ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น โดยการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ประกอบกับยังมีปัจจัยบวกจากสัญญาณเงินทุนไหลเข้า ซึ่งนักลงทุนต่างชาติมีสถานะเป็นฝั่งซื้อสุทธิทั้งในส่วนของตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุนเพิ่มเติม หลังจากที่ประธานเฟดส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่ก็จะไม่ให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ทิศทางอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ หลังข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ขยับขึ้นและความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟด สนับสนุนโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค.นี้ ในวันศุกร์ (14 ม.ค.) เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.20 เทียบกับระดับ 33.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (7 ม.ค.) สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 ม.ค.65) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.90-33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19 การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น และการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย เดือนม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามจีดีพีไตรมาส 4/64 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนธ.ค. อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกด้วยเช่นกัน ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับขึ้น แต่แรงหนุนเริ่มจำกัดช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,672.63 จุด เพิ่มขึ้น 0.91% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 84,041.18 ล้านบาท ลดลง 13.52% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 7.99% มาปิดที่ 682.26 จุด หุ้นไทยทยอยปรับขึ้นสอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติตลอดทั้งสัปดาห์ นำโดย หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มพลังงาน (ที่มีแรงหนุนจากราคาน้ำมัน) รวมถึงกลุ่มธนาคารและไฟแนนซ์ก่อนการประกาศงบไตรมาส 4/64 นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศยังมีแรงหนุนจากถ้อยแถลงของประธานเฟด ซึ่งสะท้อนว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีกรอบขาขึ้นของหุ้นไทยเริ่มจำกัดช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนกลับมากังวลต่อโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมี.ค. สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 ม.ค.65) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,660 และ 1,650 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,685 และ 1,700 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และผลประกอบการไตรมาส 4/64 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค.64 ตลอดจนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค.64 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนธ.ค. 64 ของจีน อาทิ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร