ที่กองทัพเรือถอยเอง ไม่เสนอของบประมาณ ปี 2566 ในการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน ลำที่ 2-3 งบฯ 22,500 ล้านบาท ผูกพันงบฯ ปีแรก ราว 900 ล้านบาทเท่านั้น แต่ ครม. “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อนุมัติ ให้กองทัพอากาศ ซื้อเครื่องบินขับไล่ ฝูงใหม่ งบฯ เฟสแรก 4 ลำ รวม 13,800 ล้าน จึงทำให้ถูกมองว่า เกิดอะไรขึ้น?! “บิ๊กเฒ่า” พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. ตัดสินใจยอมชะลอซื้อ เรือดำน้ำจีน อีก 2 ลำ ต่อไป เป็นปีที่ 4 เพราะเห็นว่า สถานการณ์โควิด ยังไม่คลี่คลาย กระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ แถม ฝ่ายค้าน ก็จ้องถล่มโจมตี ประกอบกับ ปัญหางบประมาณ ของ ทร. เอง ที่สูญงบฯ กว่า 8,000 พันล้านบาท จากการที่ โครงการซื้อเรือดำน้ำ ลำ 2-3 ถูกชะลอ มา 3 ปี ต่อเนื่อง ที่ดูเหมือน จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ โล่งอกไปเปลาะหนึ่ง เพราะในฐานะ นายกฯ และ รมว.กลาโหม โดนโจมตีหนัก มาตลอด 3 ปี ที่ ทร.พยายามของบฯ จนที่สุด พล.อ.ประยุทธ์เอง เป็นคนสั่งถอย ตั้งแต่ให้ทุกเหล่าทัพ ระงับโครงการใหม่ ที่ยังไม่เซ็นสัญญา คืนเงินเข้างบฯกลาง เอาไปช่วยแก้โควิดที่ตอนนั้นกลาโหม คืนไป ราว 18,000 ล้านบาท ก่อนที่ต่อมา งบฯปี 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจให้ ทร. ถอนโครงการออกจากชั้นกรรมาธิการงบฯ ในนาทีสุดท้าย เพราะกระแสต้านแรงมาก แต่ก็ให้ ทร.ไปเจรจากับทางการจีน ขอลดจ่ายงบฯ ผูกพัน งวดแรก จากกว่า 3,000 ล้าน เหลือราว 900 ล้าน แต่พอเสนอของบฯปี 2565 ไป ก็โดนชะลออีก จึงทำให้ทร. ไม่ของบฯ ปี 2566 เสมือน ยอมชะลอโครงการ เอง ทำให้ พล.ร.อ.สมประสงค์ กลายเป็น ผบ.ทร.ฮีโร่ ในสายตาประชาชน และฝ่ายค้าน ที่ถึงขั้นออกมาชม แต่เมื่อ ครม. อนุมัติ ให้ ทอ.ซื้อเครื่องบินรบใหม่ ขณะที่ ทร. ต้องชะลอ เรือดำน้ำ ที่กระทบยุทธศาสตร์อย่างมาก เพราะกว่าลำแรก จะต่อเสร็จ ก็ เม.ย. 2567 แล้วกว่าจะได้ซื้อลำ 2-3 ยังไม่รู้เมื่อไหร่ ที่อาจทำให้ ทร.อาจมีเรือดำน้ำ ลำเดียว ที่ก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ เพราะนอกจากสถานการณ์โควิดแล้ว ยังมีปัญหาขัดข้องอื่นๆ อีก ที่ทำให้ล่าช้า แต่ในทางกลับกัน พล.อ.ประยุทธ์ ไฟเขียว ทอ.ซื้อ เครื่องบินรบ 13,800 ล้าน ที่รู้กันดีว่า ทอ. เล็งซื้อ F35 แต่ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา ตามขั้นตอนเสียก่อน ว่าแบบใดเหมาะสม แต่ก่อนหน้านี้ “บิ๊กป้อง” พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. เคยให้สัมภาษณ์ไว้แล้วว่าสนใจที่จะซื้อเครื่องบิน F 35 เพราะเป็นเครื่องบินสมรรถนะสูงและราคาลดลงมาเกือบครึ่ง จาก ลำละ 142 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหลือลำละ 82 ล้านเหรียญ นั่นจึงหมายถึงว่า ครม. อนุมัติ ซื้อเครื่องบินรบ F35 แล้ว 4 เครื่อง งบประมาณ ปี2566-2569 แถมเป็นการพิจารณา แบบเอกสารลับ “ริมแดง” ไม่เปิดเผยรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องของกองทัพและความมั่นคง จึงเกิดคำถามว่า เพราะอะไร พล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติ อย่างง่ายดาย ในครั้งแรกที่ ทอ. เสนอ เข้าครม.เลย ทั้งๆที่กระแสโจมตี แถมทั้ง เป็นช่วงข้าวยากหมากแพงรัฐบาลถูกโจมตีจากเรื่องสินค้าแพงและปัญหาหมูแพง จนทำให้ทหารอากาศ แอบกังวลไปก่อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่อนุมัติโครงการนี้เพราะกลัวจะถูกโจมตี และกระทบคะแนนนิยม เนื่องจากต้องการจะกลับมาเป็นรัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แต่ที่สุด ครม. ก็ผ่านฉลุย แถมให้เป็น เรื่องลับ ห้ามเปิดเผย และไม่ต้องแถลงข่าว จนถูกมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะเข้าใจในเรื่องการป้องกันประเทศ และยุทธศาสตร์ รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค ก็ตาม แต่อีกมุมหนึ่ง ถูกมองว่า เกรงใจกองทัพ และต้องการ เอาใจทหาร ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนสำคัญ หากพล.อ.ประยุทธ์ จะไปต่อ ในสมัยหน้าจะต้องมีกองทัพที่เข้มแข็งแบกอัพ ขณะที่ กองทัพเรือ เป็นฝ่ายยอมถอย เองโดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ขอร้อง หรือสั่งการใดๆ แต่อย่างไรก็ตามโครงการจะซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตี เพื่อมาทดแทนเครื่องบิน F16 ของ ทอ. นี้ ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะจะต้องผ่านการพิจารณาในพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2566 ที่ต้องผ่านในชั้นกรรมาธิการงบประมาณ เสียก่อน ซึ่งในขั้นนี้จะถูกโจมตีอย่างหนัก จากฝ่ายค้านเช่นที่เรือดำน้ำจีนของทร. เคยถูกถล่มโจมตีมาแล้ว ต่อเนื่อง 3 ปี จนตอนนี้ดำไม่โผล่ และทำให้ทหารเรือเป็นฝ่ายถอยเองไม่เสนอของบฯปี 2566 ประเด็นหนึ่ง ที่มีการตั้งข้อสังเกตคือกระแสต่อต้านการจะซื้อเครื่องบิน F35 ของกองทัพอากาศ น้อยกว่าต้านโครงการเรือดำน้ำจีนของกองทัพเรือ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ พล.อ.อ.นภาเดช ได้ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจด้วยตนเอง ผ่านสื่อ ก่อนที่จะมีการเสนอจัดซื้อ อีกทั้ง F35 เป็นเครื่องบินสมรรถนะสูง เป็นที่ยอมรับและกองทัพอากาศส่วนใหญ่ของหลายประเทศก็อยากมีเข้าประจำการ นี่เองจึงทำให้กองทัพอากาศ โดย พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ ระบุว่าขั้นตอนต่างๆกว่าที่กองทัพอากาศ จะได้จะซื้อเครื่องบิน F35 และกว่าที่จะเข้าประจำการนั้นใช้เวลามากกว่า 10 ปี หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน F16 แล้ว และหากได้ผ่านขั้นตอนและกระบวนการเพื่อให้รายการนี้ได้บรรจุอยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 66 ที่จะต้องนำเสนอสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว กองทัพอากาศก็จะได้เตรียมการชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ระหว่างนี้ กองทัพอากาศได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษารวบรวมข้อมูลและจัดทำความต้องการของโครงการ โดยมี “ป้อม” พล.อ.อ.เอก ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รองผบ.ทอ. อดีตผู้ช่วยทูต ทอ.ประจำกรุงวอชิงตันดี.ซี.สหรัฐอเมริกา เป็นประธาน เพื่อให้พิจารณาความเหมาะสมในรายละเอียดในทุกด้านให้รอบคอบ รวมถึงข้อมูลทางเทคนิค และให้สอดคล้องกับสภาพงบประมาณที่กองทัพได้รับจัดสรรให้มากที่สุด ก่อนการนำเสนอตามกระบวนการของบประมาณ ทั้งนี้ การจัดหาเครื่องบินสมรรถนะสูงทดแทน ต้องใช้เวลาในกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงมีความพร้อมสามารถปฏิบัติภารกิจตามแผนป้องกันประเทศได้ ต้องใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 10-12 ปี และจะอยู่ประจำการในกองทัพต่อไปอีกประมาณ 40 ปี เหตุที่ต้องรอนาน เนื่องจากว่ามีคำสั่งซื้อจากกองทัพอากาศประเทศต่างๆทั่วโลกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากราคาลดลง ท่ามกลางการจับตามองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะชดเชย แก้ไขปัญหาเรือดำน้ำจีนของกองทัพเรืออย่างไร หลังมีกระแสข่าวว่ามีการเจรจากับรัฐบาลจีน เรื่องการมอบเรือดำน้ำมือสองชั้น หมิงให้กับกองทัพเรือไทย 2 ลำ เช่นที่ทางการจีนเคยมอบให้เมียนมาร์ เมื่อเร็วๆนี้ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนอยู่ในขั้นดีมาก โดยเฉพาะในยุครัฐบาลคสช. ในยุค3 ป. “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับผู้นำทหารของจีนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพื่อให้ กองทัพเรือไทยนำมาใช้ในการฝึกศึกษา ในระหว่างที่รอการต่อเรือดำน้ำลำแรกจากจีนที่กว่าจะเข้าประจำการในกลางปี 2567 หรืออาจล่าช้ากว่านั้นอีกทั้งยังไม่รู้ว่าจะได้ซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 อีกเมื่อใด ก็ให้ใช้เรือดำน้ำมือสอง นี้ไปก่อน ส่วนกองทัพบก ปีงบประมาณ 2566 “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ไม่มีนโยบายที่จะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใดใหม่ เนื่องจากได้ซื้อไปในช่วง 2 ปีที่ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. แล้ว จึงมีแค่การปรับปรุงซ่อมแซม อาวุธยุทโธปกรณ์ ที่มีอยู่โดยเฉพาะ รถถังรุ่นคุณปู่อย่าง M41 และ ได้ซื้อ เครื่อง C295 ไป 1 ลำ ที่ก็เป็นการเปลี่ยนแบบ จากในยุคของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่จะซื้อเครื่องบินหรู Beechcraft. มาเป็น C295 ที่เป็นเครื่องบินทางทหาร และใช้ในหลายภารกิจได้มากกว่า ดังนั้นจึงต้องรอดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร จะดูแลกองหนุนสำคัญของรัฐบาล ฝ่ายทหารอย่างไร หากต้องการจะไปต่อ