แนวทางรัฐบาลในการขับเคลื่อนดิจิทัลไทยแลนด์ (Digital Thailand) ที่สามารถสร้างสรรค์ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ และทรัพยากรอื่นเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนานวัตกรรมละเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์นวัตกรรม การผลิต การบริการ สร้างโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียม ผ่านสื่อดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และหนึ่งในการสร้างสรรค์นวัตกรรม “บ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0” ซึ่งทาง “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ” หรือ (กทปส. ) ได้ให้การสนับสนุนพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเบรกเกอร์ 4.0 สัญชาติไทย ด้วยระบบ Home Cloud Platform และ AI สู่ปฏิวัติอุตสาหกรรมไฟฟ้ายุคดิจิทัล ซึ่ง “นายชาญวุฒิ อำนวยสิน” ผู้อำนวยการสำนักกองทุนกทปส. เผยว่า ได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการ “บ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้าและการป้องกันภัย” ซึ่งได้รับการจัดสรรทุนประเภทที่ 1 ประจำปี 2561 ตามวัตถุประสงค์มาตรา 52 (2) ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการและบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง โดยได้ดำเนินการพัฒนานวัตกรรมด้วยระบบเทคโนโลยี HoME@Cloud ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการต่อยอดนวัตกรรมเบรคเกอร์ 4.0 ของวิศวกรไทย เพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมไฟฟ้ายุคดิจิทัล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากิจการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งสำคัญคือการจัดการองค์รวมของระบบ IoT โดยอาศัยตู้รวมไฟฟ้าเป็น GATEWAY เปลี่ยนระบบป้องกันไฟฟ้าแบบเก่าเป็นเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าดิจิทัลเพื่อการป้องกันภัยจากไฟฟ้า และได้มีการติดตั้งใช้งานจริงของระบบเบรกเกอร์ 4.0 ให้กับองค์กรสาธารณะของผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เยาว์และผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ยังติดตั้งและใช้งานในองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก กลางและใหญ่ รวมกว่า 50 แห่ง โดยได้มีการเยี่ยมชมและติดตามการดำเนินการติดตั้งและใช้ระบบ ณ บริษัท อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด (พันทิปดอทคอม) กรุงเทพฯ และบริษัท สิงโตพลาสติก จำกัด โรงงานพลาสติก จังหวัดกาญจนบุรี ทั้ง 2 แห่งซึ่งรูปแบบการใช้งานจะแตกต่างกันทำให้เห็นความสามารถของการบริหารจัดการระบบที่มีประสิทธิภาพที่รองรับการใช้งานได้ทั้งองค์กรขนาดเล็กจนถึงใหญ่ "นางชัชชม สุจริตโศภิต" ผู้พัฒนานวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 กล่าวว่า ได้รับทุนจาก กทปส. ในครั้งนี้เป็นการได้โอกาสที่จะเริ่มต้นวางมาตรฐานด้านดิจิทัลแบบองค์รวมอีกด้านหนึ่งในการเชื่อมโยงระบบดิจิทัลทั้งหมดของเมืองอัจฉริยะที่จะมีมาในอนาคต โดยอาศัยจุดที่เป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่งคือไฟฟ้า ที่ทุกอุปกรณ์ไม่อาจทำงานได้หากปราศจากไฟฟ้า และในกระแสไฟฟ้าและพลังงานไฟฟ้าที่อุปกรณ์ต่างๆใช้งานนั้น ได้บรรจุสารหรือ Intelligence เอาไว้ เมื่อเอาความสามารถทางดิจิทัลมาดิจิไทส์สารในคลื่นไฟฟ้าก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆได้ ซึ่งในโครงการนี้เป็นการนำมาใช้ประโยชน์ขั้นต้นก่อนคือการป้องกันภัยและการจัดการพลังงานพร้อมมี Gateway เพื่อรองรับ IoT นับเป็นการหลอมรวมกันของระบบสารสนเทศและไฟฟ้าอย่างแท้จริง โดยอาศัยช่องว่างของการมาทดแทนระบบเบรกเกอร์เดิม ด้วยเทคโนโลยีที่พลิกโฉมการเริ่มต้นมีไฟฟ้าใช้ให้กับอุปกรณ์ภายในบ้าน ซึ่งโครงการบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 นี้ได้สร้างระบบเทคโนโลยี HoME@Cloud ที่เป็น Cloud Platform ทำงานร่วมกับสมองกล REM101 ที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่คอยตรวจจับคลื่นไฟฟ้าและตัดสินใจตัดต่อวงจรไฟฟ้าก่อนเกิดภัยทางไฟฟ้าทุกชนิด ให้เกิดความสะดวกสบาย อุ่นใจและควบคุมได้ต่อผู้ใช้ พร้อมส่งผ่านข้อมูลพารามิเตอร์ทางไฟฟ้าไปยัง HoME@Cloud Cloud Platform ที่จะมีระบบบริหารจัดการให้เกิด Self-Thinking Home ให้บ้านเป็นเสมือนคอมพิวเตอร์ ที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเป็นองค์ประกอบในการทำงานผ่านเครื่องมือสื่อสารได้อย่างแท้จริงบนระบบเดียว ไม่ต้องพึ่ง Home HUB เช่น Google อีกต่อไปและยังสามารถต่อยอดไปใช้ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้ในอนาคต ขณะที่ “นายวันฉัตร ผดุงรัตน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Pantip.com กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์ Pantip.com และเว็บไซต์ในเครือ ซึ่งมีทีมงานรวมกันประมาณ 80 ท่าน ทำหน้าที่ ดูแล บริการ และ พัฒนาเว็บไซต์ Pantip.com โดยมีความมุ่งหวังที่จะดำรงแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ของไทยให้มีมาตรฐานและคุณภาพทัดเทียมของต่างประเทศไว้อย่างต่อเนื่อง สำหรับประโยชน์ที่บริษัทฯได้รับจากการติดตั้ง Home@Cloud (Home Managed Electricity in the Cloud) นั้น หลังจากทำการติดตั้งและศึกษาพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในช่วงระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ทำให้ทราบถึงพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าหลักๆของบริษัทฯได้อย่างชัดเจน รวมถึงเห็นจุดที่อาจเป็นปัญหา ซึ่งช่วยในการวางแผนเพื่อปรับปรุงระบบเพื่อเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้ไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี แม้ปัจจุบันทางบริษัทฯทำงานในลักษณะ Work from Home เนื่องจากภาวะระบาดของเชื้อ Covid-19 ทำให้การใช้ไฟฟ้าไม่สูงนัก แต่เชื่อว่าเมื่อทีมงานเริ่มเข้าปฏิบัติงานในที่ตั้ง ข้อมูลที่ได้รับจาก Home@Cloud จะช่วยให้การบริหารการใช้พลังงานภายในองค์กรทำได้ดีขึ้นมาก และคาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็นลงได้ไม่น้อยกว่า 15% และยังมีแผนที่จะนำ Home@Cloud ไปต่อยอดเพื่อบริหารการใช้พลังงานของระบบเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการเว็บไซต์เพิ่มเติม ซึ่งจะยิ่งสร้างประโยชน์ในด้านการประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายได้อีกมาก นอกจากนี้แล้ว Home@Cloud ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเองโดยวิศวกรชาวไทย เมื่อมองในภาพรวมด้านสังคมแล้ว เป็นสิ่งที่ Pantip.com รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสให้การสนับสนุน โดยแนวคิดที่เชื่อมั่นมาตลอดว่า นวัตกรรมที่สร้างและพัฒนาโดยคนไทยเหล่านี้ คือพื้นฐานที่แท้จริงของการสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศชาติต่อไปในอนาคต อีกทั้งในมุมของตัวนวัตกรรมเอง ก็มีความน่าตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่สามารถรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานที่จุดปลายทางได้อย่างสะดวก ติดตั้งเข้ากับระบบไฟฟ้าเดิมได้ง่าย ซึ่งในอนาคตข้อมูลเหล่านี้ สามารถรวบรวมเป็น Big Data และ ต่อยอดร่วมกับ Artificial Intelligence และ Machine Learning สร้างเป็น Platform เพื่อให้เกิดเป็น Smart Energy Management ซึ่งนำไปใช้ได้ทั้งในภาพใหญ่ระดับ Smart City และในภาพย่อยระดับ Smart Home หรือ ใช้ในงานประยุกต์ต่างๆได้อย่างหลากหลาย การพัฒนาเทคโนโลยีในเวลานี้จะเป็นเรื่องสำคัญที่ ทั้งภาครัฐ และเอกชนร่วมกันพัฒนา เพื่อเดินหน้าสู่ประเทศดิจิทัลที่ตั้งใจไว้ ให้สมกับที่บอกไว้ว่าเรากำลังก้าวสู่ยุค “ดิจิทัลไทยแลนด์”