จากกรณีเขย่าขวัญนักลงทุน​ เมื่อกรมสรรพากรออกมาประกาศเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี​ โดยระบุว่าในกฎหมายระบุเรื่องการเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซีไว้แล้วนั้น​ กระทั่งมีกระแสออกมาคัดค้าน​ และไม่เห็นด้วย จนล่าสุดกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมสรรพากรไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความชัดเจนในการเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดร่วมกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยอยู่นั้น ต่อเรื่องนี้​ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanijแสดงความเห็นว่า​ ไม่เห็นด้วย กับการเก็บ 'ภาษีคริปโต' จนกว่าสรรพากร จะตอบคำถามในกระบวนการอย่างชัดเจน ยุติธรรม และเป็นระบบ . เรื่องภาษีโดยเฉพาะภาษีจากโลกดิจิทัลละเอียดอ่อน ต้องลึกซึ้ง และรู้จริง . [ ว่าด้วยเรื่อง “ภาษีคริปโต" เรื่องใหญ่ที่คนไทยต้องรู้ ] . เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางกรมสรรพากรประกาศวิธีการคำนวณภาษีคริปโตฯ โดยคิดกำไรที่เกิดขึ้นจากการขายรายธุรกรรม (transactions) โดยไม่สามารถนำรายการที่ขาดทุนมาหักลบได้ โดยคำนวณจากเงินได้ (กำไร) แล้วหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่จบเพียงแค่นั้น แต่ยังต้องนำเงินได้ (กำไร) มารวมกับเงินได้อื่นๆ พร้อมยื่นภาษีประจำปี ซึ่งแน่นอนว่ามีเสียงสะท้อนออกมาในด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นจากผู้ประกอบการ exchange หรือบรรดานักเทรดคริปโตฯ . ก่อนที่จะวิเคราะห์ประเด็นเรื่องภาษีกำไร อีกเรื่องที่นักลงทุนคริปโตควรจะต้องมีคำถามกับทางสรรพากร (แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง) คือประเด็นเกี่ยวกับการเก็บภาษี VAT เพราะสรรพากรเก็บ VAT เสมือนคริปโตเป็นสินค้า . เพราะฉะนั้น 'จะเกิดการจ่าย VAT สองเด้ง' หากเรารับชำระการขายสินค้าเป็นคริปโต เพราะนอกจากเสีย VAT ตอนขายสินค้าแล้ว เรายังต้องเสีย VAT จากการขายคริปโตเป็นบาทอีกด้วย . แม้แต่ผู้ลงทุน หากขายคริปโตเกิน 1.8 ล้านบาท ก็ต้องจด VAT และเสีย VAT โดยไม่สามารถเขียนใบเสร็จได้ เพราะเราขายคริปโตใน exchange เราไม่รู้ผู้ซื้อ . นี่คือสาเหตุที่หลายประเทศได้แก้กฎหมายเพื่อปลดล็อกคริปโตออกจากระบบ VAT . ดังนั้นกรมสรรพากรควรจะเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำเสนอและศึกษาแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศต่อไป โดยอาจจะดูตัวอย่างในต่างประเทศที่มีการออกข้อกำหนดลักษณะนี้มาแล้วก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง capital gains tax, VAT/GST สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น . 1. VAT/GST – สิงคโปร์ ออสเตรเลีย หรือบางประเทศใน EU กำหนดให้การขาย crypto currency, การใช้ crypto currency ในการซื้อสินค้าและบริการ, การจ่ายเงินเป็น crypto currency จะไม่ต้องเสีย VAT. ในต่างประเทศมีการยอมรับให้ใช้ crypto currency โดยไม่เสีย VAT แต่ประเทศไทยเรื่องนี้ยังต้องพูดคุยเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น มิเช่นนั้นอาจจะสร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อขายสินค้าโดยใช้ crypto currency ก็เป็นได้ . 2. Capital Gains Tax (CGT) – หลายประเทศในเอเชีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไม่มีการคิด CGT แต่อีกหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, แคนาดา มีการคิด CGT แต่สามารถนำค่าใช้จ่าย รวมถึงกำไร-ขาดทุนมาคำนวณเงินได้สุทธิก่อนยื่นภาษีได้ บางประเทศอนุญาตให้นำขาดทุนจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมาหักจากเงินได้ที่มาจากการลงทุนในตัวสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น ไม่สามารถนำมาหักจากรายได้ประเภทอื่น ส่วนประเทศไทยเองก็สามารถคำนวณ CGT โดยใช้หลักเกณฑ์ลักษณะนี้ได้เหมือนกันเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย . 3. Tax-exempt – เกาหลีใต้ จะเก็บภาษีคริปโตในอัตรา 20% แต่จะยกเว้นภาษีจากกำไรส่วนแรกที่ไม่เกิน 2.5 ล้านวอน (แต่กฎเกณฑ์นี้ถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อยถึงปี 2023) . ส่วนในประเทศไทย “ถ้า” หากกรมสรรพากรสามารถจัดเก็บได้จริง อาจจะมีการพิจารณายกเว้นภาษีในส่วนแรก เช่นกำหนดให้กำไร 1 แสนบาทแรกไม่ต้องเสียภาษีก็สามารถทำได้ . ผม "ไม่เห็นด้วย" ที่กรมสรรพากรจะจัดเก็บภาษีส่วนนี้ จนกว่าจะมีคำตอบและความชัดเจนในทุกประเด็นที่กล่าวมา รวมไปถึงความชัดเจนในวิธีการว่าจะสามารถบริหารจัดการให้การเก็บมีความยุติธรรมต่อทุกคนที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ มีระบบและเครื่องมือที่สามารถตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหนในทางปฏิบัติ? ในต่างประเทศที่มีการจัดเก็บ CGT ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำข้อตกลงกับทาง exchanges หรือ platforms ต่างๆเพื่อให้ส่งข้อมูลการซื้อขายกลับมายังรัฐบาล แต่เท่าที่ทราบตอนนี้ยังไม่เห็นมีมาตรการเหล่านี้ออกมาอย่างชัดเจน . อย่างที่ได้กล่าวไปครับ รายละเอียดเยอะ ความซับซ้อนที่ต้องทำความเข้าใจมีเยอะ เรื่องแบบนี้ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องที่รู้จริงมาถกหาทางออกร่วมกัน . #เศรษฐกิจดิจิทัล #พรรคกล้า #เรามาเพื่อลงมือทำ