หน้าฝนนี้นอกจากไข้หวัดที่พบบ่อยแล้ว ในเด็กเล็ก-เด็กวัยเรียนก็มักพบโรคมือเท้าปากแพร่ระบาดได้มาก เกิดจากการเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัสในลำไส้คน ซึ่งทารก-เด็กเล็กมีโอกาสป่วยง่าย และจะรุนแรงกว่าเด็กโต ส่วนผู้ใหญ่ก็พบเป็นได้ มักพบในสถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน แพทย์โรคระบบทางเดินหายใจเด็ก รพ.พระรามเก้า กล่าวว่า โรคนี้ติดต่อได้ง่าย จากการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ และน้ำในตุ่มพองของผู้ป่วยโดยเข้าทางปากโดยตรง หรืออาจติดมากับมือ ของเล่น ไอจาม ใช้ภาชนะรับประทานอาหารร่วมกัน สัปดาห์แรก จะมีไข้ 2-4วัน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บในปาก-คอ ปวดเมื่อยตัวคล้ายไข้หวัด มีจุด-ผื่นแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ฝ่ามือ-เท้า ก้น และเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดง แตกเป็นแผลหลุมตื้นๆ โดยทั่วไปมักไม่รุนแรงหายได้เอง แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนอาการจะรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็ก หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไม่สามารถรับประทานอาหาร-น้ำได้ จนมีอาการขาดน้ำ ก้านสมอง- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หากเด็กซึมลง ไม่กินอาหาร-น้ำ อาเจียนบ่อย ดูเหนื่อย ควรรีบพบแพทย์ ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาเฉพาะ การป้องกันควรสอนให้ลูกรักษาความสะอาดโดยล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่ายทุกครั้ง...