นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่า AOT อยู่ระหว่างศึกษาการเข้าบริหารสนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เพิ่มเติมอีกจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานตาก ท่าอากาศยานแม่สอด และท่าอากาศยานพิษณุโลก เพื่อพัฒนาให้เป็นฮับทางการบินระหว่างประเทศของภาคเหนือตอนล่างนั้น AOT ขอชี้แจงว่า AOT ไม่มีนโยบาย จะเข้าบริหารสนามบินดังกล่าวของ ทย. และยังไม่เคยได้รับนโยบายดังกล่าวจากทางรัฐบาลแต่อย่างใด ซึ่งการที่สนามบินใดสนามบินหนึ่งจะสามารถเป็นฮับทางการบินได้ จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ เช่น น่านฟ้าต้องไม่ทับซ้อนกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน่านฟ้าของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งท่าอากาศยานตากและแม่สอดมีการใช้น่านฟ้าการบินที่ทับซ้อนกัน รวมถึงจะต้องมีการออกแบบทางวิ่งทางขับ ตลอดจนสะพานเทียบเครื่องบินที่รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ มาตรการด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย ความสามารถในการเข้าถึงของประชาชน เช่น ทางถนนหรือทางราง ความสามารถในการเชื่อมต่อ การตลาดด้านเส้นทางการบินระหว่างประเทศ รวมทั้งการบริหารฐานการบินที่จะกระจายไปยังภูมิภาคของประเทศ และคุณภาพการให้บริการ เป็นต้น ดังนั้น จากการศึกษาองค์ประกอบต่างๆ ของ AOT พบว่า ในเขตภาคเหนือมีพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะสร้างสนามบินสำหรับเป็นฮับทางการบินได้ คือ พื้นที่ระหว่างอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน สำหรับการศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาท่าอากาศยานตากพบว่าการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางอากาศหรือ Cluster ภาคเหนือยังคงสอดคล้องกับการเติบโตของการเดินทางในภาคเหนือตอนบนที่มีศักยภาพในการยกระดับเป็นฮับทางการบินของภูมิภาค ซึ่งจังหวัดตากไม่ได้อยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่รองรับการเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนั้น เส้นทางเชื่อมต่อทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดตากเป็นเส้นทางไปสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขามากกว่าพื้นราบอันจะส่งผลต่อต้นทุนในการขนส่ง อีกทั้งยังมีท่าอากาศยานแม่สอดที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้น ท่าอากาศยานตากจึงไม่มีศักยภาพทางการตลาดเพียงพอในการจะพัฒนาเป็นฮับด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศได้ "AOT ยังไม่เคยได้รับนโยบายการเข้าบริหารสนามบินทั้ง 3 แห่งจากรัฐบาลและยังไม่มีนโยบายที่จะเข้าบริหารสนามบินดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม AOT สนับสนุนแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินในประเทศไทยสู่การยกระดับเป็นฮับทางการบิน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของประเทศต่อไป"