นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือนม.ค.65 คาดจะมีมูลค่าอยู่ที่ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเติบโตอยู่ที่ 6-7% ซึ่งมากกว่าเดือนม.ค.64 ที่อยู่ที่ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับทั้งไตรมาส 1/65 มองว่าจะอยู่ที่ 5% จากการวิเคราะห์ว่าถ้าเราผ่านเดลตาที่หนักมากๆมาได้ก็น่าจะผ่านโอไมครอนไปได้ ประกอบกับผู้ส่งออกได้เร่งส่งออก เนื่องจากปีนี้วันตรุษจีนมาไวกว่าปีก่อนๆ ส่วนทั้งปี 2565 ยังคงคาดการณ์เดิมเติบโตอยู่ที่ 5-8% โดยในปี 2564 สรท.ยังคงคาดการณ์เดิมว่าส่งออกของไทยอยู่ที่ 15% โดยคาดว่าในเดือนธ.ค.64 จะอยู่ที่ 15-16% มูลค่าอยู่ที่ 21,000-22,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน แต่เชื่อมั่นว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะสามารถช่วยลดความรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,647.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 24.7% ซึ่งไทยสามารถส่งออกได้ดี และคาดว่าจะมีแรงส่งต่อเนื่อง สำหรับปัจจัยบวกที่สำคัญได้แก่ 1.เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ฟื้นตัวต่อเนื่อง และอุปสงค์ยังคงทรงตัวในระดับสูง รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก (World PMI Index) ของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ยังคงทรงตัวอยู่ ณ ระดับ 50 ถึง 60 สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมการผลิตและเศรษฐกิจโลก 2.ค่าเงินยังคงมีทิศทางอ่อนค่าจากปัจจัยความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน รวมถึงการลดปริมาณเงินในมาตรการ QE Tapering และแผนปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 3 ครั้งในปี 2565 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่วนปัจจัยลบและความเสี่ยงสำคัญได้แก่ 1.สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โอไมครอนทั่วโลกรวมถึงไทย จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีการพบจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย แม้รายงานผลกระทบจากการติดเชื้อยังคงไม่รุนแรงนัก แต่รัฐบาลหลายประเทศต้องพิจารณาทบทวนเรื่องการกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ว่าจำเป็นมากน้อยเพียงใด และหากนำกลับมาใช้อีกจะต้องเข้มงวดในระดับไหน ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ 2.แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุน การจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อการส่งออกที่กำลังฟื้นตัว ปีนี้ไทยน่าจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในทุกภาคอุตสาหกรรม เช่น ภาคการส่งออกที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในภาพรวมไทยจึงต้องการแรงงานอยู่ที่ 200,000-400,000 คน จึงจะเพียงพอ 3.ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถจองระวาง ตลอดจนค่าระวางเรือยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะยุโรป และสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทรงตัวสูงยาวจนถึงปลายปี 2565 4.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เหล็ก และน้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกยังคง ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดย สรท.มีข้อเสนอแนะคือ 1.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับเหมาะสม 2.ขอให้กระทรวงพลังงาน ควบคุมต้นทุนพลังงานให้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงการฟื้นฟูหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 3.ขอให้กระทรวงแรงงาน เร่งช่วยเหลือเรื่องปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในภาคการผลิตดังนี้ กำหนดพื้นที่บริหารจัดการส่วนกลาง หรือศูนย์ One Stop Service (OSS) สำหรับบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เช่น จุดคัดกรองด้านสาธารณสุข และอุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการตรวจสอบ รวมถึงให้สามารถดำเนินการด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในจุดเดียว อำนวยความสะดวกพื้นที่ในการกักตัว โดยอาจนำสถานที่ราชการที่เหมาะสม มาปรับใช้ในการกักตัวให้กับแรงงานต่างด้าว ระหว่างรอผลตรวจและการดำเนินเอกสาร ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU สูงมาก จากช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อคน เป็นประมาณ 12,000-22,000 บาทต่อคน ในปัจจุบัน ส่งผลให้ภาคเอกชนจำต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ปรับลดค่าใช้จ่ายบางส่วนเช่น ค่าบริการตรวจโควิด (ครั้งละ 1,300 เหลือ 800 บาท) ค่าสถานที่กักตัว (จากวันละ 500 เหลือวันละ 300 บาท) ค่าประกันโควิด และชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เป็นต้น 4.เร่งเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรี ระหว่างประเทศไทยและยุโรป