นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กนง.มีมติปรับการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินมาเป็น 6 ครั้งต่อปี จากเดิม 8 ครั้งต่อปี เนื่องจากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เข้ามาไม่ได้ถี่หรือเคลื่อนไหวเร็วมาก ดังนั้นมองว่าการมีข้อมูลช่วงสั้นๆไม่สามารถมีนัยสำคัญต่อการประมาณการณ์เศรษฐกิจมากนัก ทั้งนี้ในทางกลับกัน การมีเวลาเพิ่มขึ้นในการวิเคราะห์เศรษฐกิจจะทำให้คณะกรรมการสามารถมองข้ามความผันผวนจากข้อมูลรยะสั้นได้ และมีเวลามากขึ้นในการประชุม และสามารถทุ่มเทกับการวิเคราะห์เชิงลึกทางเศรษฐกิจ เพื่อสนรับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินได้มากขึ้น อีกทั้งการประชุมบ่อยครั้งยังสร้างภาระให้ภาคการเงินต้องคาดเดาของตลาด ซึ่งการลดการประชุมของคณะกรรมการกนง.ครั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่ลดทอนประสิทธิภาพของการประชุมลง เพราะหากมีเหตุจำเป็น ปัจจัยเร่งด่วน คณะกรรมการสามารถนัดประชุมวาระพิเศษได้ ดังนั้นจึงมองว่าการประชุม 6 ครั้งต่อปีเป็นระดับที่เพียงพอในการทำนโยบายการเงินและให้ความยืดหยุ่นได้ “เหตุผลของการปรับลดการประชุม กนง.จะทำให้ กนง.สามารถมองข้ามปัจจัยระยะสั้น ความผันผวนระยะสั้นไปได้ และมีเวลาเยอะขึ้นในการทบทวนเศรษฐกิจเชิงลึก ขณะที่ตลาดเงินจะมีความชัดเจนมากขึ้น ในการคาดการณ์ต่างๆ ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น” โดยหากดูการลดการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินดังกล่าวถือว่า สอดคล้องกับหลายประเทศที่ลดการประชุมลงเช่นกันเช่น สหภาพยุโรปจาก 12 ครั้ง เหลือ 8 ครั้ง สหราชอาณาจักร จาก 12 ครั้ง เหลือ 8 ครั้ง และญี่ปุ่นจาก 14 ครั้ง เหลือ 8 ครั้ง และมีอีกหลายธนาคารที่ประชุมน้อยกว่า 8 ครั้งต่อปีเช่น นิวซีแลนด์ลดจาก 8 ครั้ง เหลือ 7 ครั้ง มาเลเซียจาก 8 ครั้ง เหลือ 6 ครั้ง และสวีเดนจาก 6 ครั้ง เหลือ 5 ครั้ง อีกทั้งบางประเทศประชุมน้อยกว่านั้นเช่น สิงคโปร์ประชุม 2 ครั้ง ไต้หวันและสวิตเซอร์แลนด์ 4 ครั้ง