ปัญหาราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี เหตุเพราะลูกสุกร สุกรขุน และแม่พันธุ์ หายไปจากระบบกว่า 50% จากการที่เกษตรกรเลิกเลี้ยงหรือหยุดการเลี้ยงไปกว่าครึ่ง เนื่องจากแบกรับภาระไม่ไหว ทั้งจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ของอุตสาหกรรม ภาวะขาดทุนสะสมกว่า 3 ปี ปัญหาโรคในสุกร และต้นทุนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ปัจจุบันปัญหาเนื้อหมูราคาพุ่งสูงส่งผลกระทบตั้งแต่ต้นทาง ไปจนถึงปลายทาง เริ่มจากภาระเกษตรกรฟาร์มหมู พ่อค้าคนกลาง ผู้ขายหมูหน้าเขียง ประชาชนผู้บริโภค รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหารที่ขึ้นราคาอาหารจานด่วน 20-30% กันเลยที่เดียว ทำให้ขณะนี้ประชาชนเริ่มที่จะหยุดบริโภคเนื้อหมูกันบ้านแล้ว เพราะทนรับราคาที่แพงขึ้นไม่ไหว ล่าสุด ราคา"ไข่ไก่" ก็เริ่มทยอยปรับราคาสูงขึ้น จากการลงพื้นที่สำรวจราคาของผู้สื่อข่าว ร้านค้าส่งและปลีกไข่สดส่วนใหญ่ที่มีทั้งไข่เป็ด ไข่ไก่ ไข่เค็มและไข่เยี่ยวม้า ได้ปรับราคาขึ้นแผงละ 6 บาททุกไซส์ทุกขนาด โดยเฉพาะไข่ไก่ที่ปรับขึ้นจากราคาฟองละ 2.70 บาท เป็น 3.20 บาท เนื่องจากการปลดระวางแม่ไก่ ทำให้กำลังจากผลิตไข่ไก่ลดลง และเมื่อความต้องการบริโภคไข่ไก่มีมากขึ้นสวนทางกลับการผลิตจึงทำให้ราคาปรับตัวสูงตาม รวมทั้งต้นทุนอาหารสัตว์ขึ้นราคา และสถานการณ์ COVID-19 กระทบนำเข้าแม่ไก่ไม่ได้ ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีไข่ไก่และเนื้อไก่ที่ปรับราคาขึ้น ว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่อนุญาตให้มีการขึ้นราคาสินค้าดังกล่าว ซึ่งอาจมีการฉกฉวยขึ้นราคา ก็จะมีการดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค แต่หากมีความจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าในรายการใด ก็สามารถทำเรื่องมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิสูจน์เป็นรายกรณีไปว่ามีความจำเป็น เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรรายย่อย จากการกดราคาทางนโยบายและเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าขาดตลาดอีก ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน โดยจะต้องสมดุลกันระหว่างผู้บริโภค และเกษตรกรรายย่อย