กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ขานรับมาตรการกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ รุกจัดกิจกรรม DIPROM MOTOR SHOW ณ จังหวัดลำปาง เพื่อสร้างมูลค่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งผลักดันให้มีการจัดนิทรรศการและงานแฟร์ได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาจาก ดีพร้อม ผ่านโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ.ในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวนกว่า 40 ราย เข้ามาร่วมในงานดังกล่าวด้วย เพื่อแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคที่สามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาตอบโจทย์การทำตลาดในยุคปกติใหม่ ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเพื่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ วันที่ 9 - 15 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งคาดว่าตลอดการจัดงานในครั้งนี้ จะมีเงินสะพัดภายในงานกว่า 115 ล้านบาท นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องด้วยไทยยังคงเป็นฐานสำคัญในการผลิตทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ การประกอบรถยนต์ รวมถึงการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์ ซึ่งสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2564 ที่ผ่านมานั้นพบว่าเริ่มมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีการผลิตรถยนต์ 1.6 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 แบ่งเป็นขายในประเทศ 0.75 ล้านคัน และส่งออกต่างประเทศ 0.85 ล้านคัน ส่วนในปี 2565 ได้ประมาณการว่าจะมีการผลิตรถยนต์ 1.7 – 1.8 ล้านคัน ซึ่งมีปัจจัยที่สำคัญทั้งการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวมากขึ้น มาตรการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว นายณัฐพล กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมภาคส่วนดังกล่าว และรับสอดรับกับมาตรการของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดีพร้อม จึงได้จับมือกับสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย รวมถึงภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน ในการร่วมจัดงาน “DIPROM MOTOR SHOW” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ตามแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค โดยจัดขึ้นที่อาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ วันที่ 9 - 15 กุมภาพันธ์ 2565 และเป็นครั้งแรกที่ ดีพร้อม ดำเนินการจัดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อกระตุ้นตลาดยานยนต์โดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ อีกทั้ง ยังเป็นการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งทางค่ายรถยนต์และจักรยานยนต์ชั้นนำร่วมจัดแสดงในงานดังกล่าวมากกว่า 15 แบรนด์ ขณะเดียวกัน รวมตัวกันในงานนี้ ยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคที่จะสามารถเปรียบเทียบข้อมูลยานยนต์ต่าง ๆ จากหลากหลายค่ายในที่เดียวก่อนการตัดสินใจที่จะซื้อรถ ซึ่งคาดว่าจากการจัดกิจกรรมนี้จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบภาคการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้กว่า 100 ล้านบาท “แม้ว่าไทยจะยังคงเป็นฐานที่สำคัญในการผลิตรถยนต์แต่การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการแข่งขันในปัจจุบันดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบนโยบายให้ ดีพร้อมเร่งยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรมดังกล่าวให้สามารถแข่งขันและปรับตัวได้ทันกับกระแสโลก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนายานยนต์สู่ยานยนต์สมัยใหม่ ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้า ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ หรือแม้แต่กระทั่งยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ พร้อมทั้งสร้างความต่อเนื่องให้กับกระบวนการผลิต การพัฒนาทักษะให้กับบุคลากร รวมถึงการร่วมวางแผนสถานประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ภายใต้สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงผันผวน” นายณัฐพล กล่าวอีกว่า เพื่อกระตุ้นให้การจัดกิจกรรม และนิทรรศการต่าง ๆ เป็นไปอย่างครบวงจร ดีพร้อม ยังได้เชื่อมโยงผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาจากดีพร้อมผ่านโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ. ที่มีสมาชิกทั่วประเทศอยู่กว่า 12,004 ราย โดยอยู่ในพื้นที่เหนือ จำนวน 3,198 ราย ซึ่งได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมงานดังกล่าวในสาขากลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนกว่า 40 ราย ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป กลุ่มธุรกิจเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ รวมถึงระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภคทั้งในการสร้างมูลค่า การจับคู่ธุรกิจหรือ Business Matching พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวเมืองรองในรูปแบบของงานแฟร์ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว คาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 15 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคที่สามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาตอบโจทย์การทำตลาดในยุคปกติใหม่ หรือ New Normal อีกทั้ง ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเพื่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอีกด้วย