เมื่อวันที่ 16 – 17 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ( องค์การมหาชน ) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดให้มีโครงการสื่อสัญจรลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อนำเสนอบทเรียนพื้นที่รูปธรรมเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ความร่วมมือขององค์กรชุมชน ภาครัฐ และองค์กรภาคธุรกิจ รวมถึงภาคีอื่น ในนามบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดเพชรบุรี จากการลงพื้นที่ ที่สหกรณ์บริการสินค้าเกษตรอินทรีย์เพชรบุรีจำกัด (CO-Pop) ในตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นการรวมตัวของเกษตรกร สถาบันการศึกษา ภาคประชาชน ภาคธุรกิจในจังหวัดเพชรบุรี เพื่อผลิต แปรรูป และพัฒนา ช่องทางการจำหน่ายให้กับสินค้า ตลอดระยะเวลาที่มีการร่วมกลุ่มได้มีการลงพื้นที่ สำรวจข้อมูลของเกษตรกร แปลงเพาะปลูกและผลผลิตของเกษตรกรของเครือข่ายทั้ง พืชเกษตร ประมงและปศุสัตว์ ซึ่งพบว่ามีการเพาะปลูกพืชผลเกษตรอินทรีย์อยู่หลายพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดเพชรบุรี ไม่มีการใช้สารเคมี ที่เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค ที่สำคัญเรายังพบว่าผู้บริโภคทั่วไปและผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ท ที่พัก ร้านอาหารในท้องถิ่นก็มีความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์เช่นกัน จึงเป็นที่มาของ “ตลาดนำการผลิต” ซึ่งเกษตรกรมีตลาดรองรับผลิตผลที่แน่นอนและจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรมไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งสหกรณ์จะเป็นผู้เข้าไปสนับสนุน ส่งเสริมด้านต่างๆ ให้สมาชิก นายวิชัย นะสุวรรณโน ผจก.ภาคตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ( องค์การมหาชน ) หรือ พอช. กล่าวในเรื่องนี้ว่า ภาคตะวันตกมีแนวทางการขับเคลื่อนงาน 2 ระดับ คือ 1.เชิงพื้นที่ โดยขบวนองค์กรชุมชนมองว่าต้องให้ทุกพื้นที่มองทะลุปรุโปร่ง “เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และเข้าใจง่าย” มีการทำระบบข้อมูลครอบคลุมพื้นที่ และสร้างรูปธรรมเกิดความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง ตลอดจนมีกลไกระดับภาค จังหวัด และตำบล 2.การเชื่อมโยงประเด็นร่วมในระดับจังหวัด คือ มีการ Mapping ข้อมูล และการทำงานร่วมกันกับภาคี ที่ผ่านมามีการจัดเวทีเชิญหน่วยงานลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกัน เพื่อเป็นพลังในภาค หลังจากนั้นได้ขยับมาสู่ระดับจังหวัด โดยเฉพาะ จ.เพชรบุรี โดยเริ่มจากกระบวนการเกษตรอินทรีย์ และตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้เพชรบุรีชูเรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นวาระของจังหวัด และพัฒนาสู่สหกรณ์ หรือโคออฟ (CO-OP) ฐานการคิดของบริษัทประชารัฐรักสามัคคี จำกัด และการเคลื่อนงานของ จ.เพชรบุรี เริ่มจากการพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชนเป็นหลัก และให้ภาคธุรกิจมาเสริม ทำให้เห็นโอกาส และช่องทางในการไปต่อ นอกจากนี้ในตำบลถ้ำรงค์ ยังมีสถานที่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจฐานรากตามวิถีท่องเที่ยวชุมชน ด้วยทรัพยากรในพื้นที่ ต.ถ้ำรงค์ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ที่มีความพร้อมและครบเครื่องเรื่องวิถีชุมชน มีสวนเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ เป็นแหล่งเพาะปลูกกล้วยหอมทองส่งออก แหล่งอนุรักษ์ตาลโตนดสัญลักษณ์ของจังหวัด มีกลุ่มอาชีพหลากหลายในชุมชน ทั้งน้ำพริก จักสาน ทำว่าว ขนมไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งโบราณสถานมีหลวงพ่อดำพระพุทธรูปแกะสลักจากผนังถ้ำอายุกว่า 800 ปี มีพิพิธภัณฑ์อนุรักษ์เกวียนและเครื่องจักสานท้องถิ่นที่วัดม่วงงาม และเส้นทางลำธารล่องเรือชมวิถีชุมชนที่กำลังร่วมใจกันฟื้นฟู เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนยกระดับเศรษฐกิจฐานรากโดยขับเคลื่อนร่วมกับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดเพชรบุรี จำกัด ตามเป้าหมาย “เพชรบุรีบ้านน่าอยู่ ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” และอีกหนึ่งพื้นที่ที่ถือว่าเป็นรูปธรรมเศรษฐกิจฐานรากที่บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดเพชรบุรี จำกัด พร้อมสนับสนุน คือวิสาหกิจแพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ย กับธนาคารปู ของชาวชุมชน ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นการประมงอินทรีย์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาราคาสัตว์น้ำในพื้นที่ตกต่ำ ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ชาวประมงไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่ายต้องกู้หนี้ยืมสินจากพ่อค้าคนกลาง ภายหลังสมาคมรักษ์ทะเลไทยเข้ามาสำรวจปัญหาชุมชนและสนับสนุนให้ไปศึกษาดูงานในพื้นที่ภาคใต้ จึงกลับมาจัดตั้งแพปลาชุมชนขึ้นในปี 2551 เพื่อเป็นแนวทางแก้ปัญหาให้กับชุมชน จากนั้นจึงได้จัดทำธนาคารปูขึ้นเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูปูม้าที่มีจำนวนลดลงมากจนน่าใจหาย ให้กลับเพิ่มจำนวนขึ้นเพื่อเป็นแหล่งอาหารและรายได้ให้กับชุมชนต่อไปในอนาคต