วันที่ 17 ธันวาคม 2564 ณ หอประชุมโรงเรียนเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้จัดเวทีเสวนา"ล้อมวงคนริมโขง กรณีเขื่อนสานะคาม" ในเวทีดังกล่าว มีการให้ข้อมูลข้อคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ด้านประมง และด้านเศรษฐกิจและสังคม และเปิดกระบวนการให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงเข้าร่วมและแสดงความคิดเห็นนั้น ในนามเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน 7 จังหวัดภาคอีสาน(คสข.) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่จากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงมากกว่า 10 ปีเราขอแสดงจุดยืนว่า 1. พวกเราขอคัดค้านการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงไม่ว่าจะเป็นเขื่อนใดๆเนื่องจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมาทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ต่อสภาพแวดล้อมอย่างชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะเขื่อนไซยะบุรีที่อยู่ห่างจากชายแดนไทยเพียง 300 กิโลเมตร ดังนั้นเขื่อนสานะคามห่างเพียง 1.5 กิโลเมตรจึงจะส่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 2. การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลต่อกรณีการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงมีความไม่ชัดเจน แม้เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)จะได้พยายามยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและในวันที่ 11 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา รวม 7 ข้อต่อมา นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา มีบัญชาให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศประสานความร่วมมือกับคสข.และหน่วยงานต่างๆไม่ว่าจะเป็น มหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพย์ฯ กระทรวงเกษตรฯ เพื่อแก้ไขปัญหา และมีเพียงกระทรวงเกษตรฯ เท่านั้น ที่จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำแผนพัฒนาด้านการเกษตร ประมง ซึ่งเป็นแผนปี 2566-70 ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม คสข.พบว่าไม่มีหน่วยงานใดที่มีข้อมูลที่ชัดเจนที่แสดงถึงผลกระทบเพื่อใช้ในการวางแผน รวมทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่จ้างสถาบันวิชาการบางสถาบันในการทำรายงานวิจัยเพื่อติดตามผลกระทบเรื่องนี้ และผลการวิจัยก็ยังไม่ยอมชี้ชัดว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นเกิดจากการสร้างเขื่อนและอ้างว่าเป็นผลจากภาวะโลกร้อน ขาดการศึกษาที่ชัดเจนว่าเขื่อนเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างไรและที่สำคัญขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทุกหมู่เหล่า 3. คสข.ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้เลิกดำเนินการลักษณะ "ลูบหน้าปะจมูก" เราพบว่าการลงทุนของไทยในต่างแดนมีจำนวนมากในการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงลำน้ำสาขาไม่ว่าจะเป็นเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนหลวงพระบางที่กำลังก่อสร้าง เราขอตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่าพลังงานไฟฟ้าสำรองของประเทศเหลือเฟือแต่ทำไมไทยถึงรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านอีก รัฐบาลไทยเอื้อทุนไทยในการลงทุนทั้งในมิติการก่อสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง การรับซื้อไฟฟ้าโดยไม่สนใจความทุกข์ร้อนของประชาชนหรือไม่ โดยบริษัทช.การช่างกรณีเขื่อนไซยะบุรี กรณีเขื่อนหลวงพระบางบริษัทอิตาเลียนไทยกรณีเขื่อนบ้านกุ่มบริษัทซีพี กรณีเขื่อนภูงอย ที่กำลังจ่อเข้าเวที PNPCA คสข.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลโดยเฉพาะผู้นำประเทศ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยชี้แจงต่อประชาชนลุ่มน้ำโขงตอบประชาชนทั้งประเทศว่าเหตุใดไฟฟ้าล้นเหลือทำไมยังต้องรับซื้อไฟจากเขื่อนน้ำโขง ทำไมยังต้องเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องการสร้างเขื่อน การรับซื้อไฟฟ้าล่วงหน้า เหมือนกับเป็นการรับรองการสร้างเขื่อน ไม่มีคนซื้อ ก็ไม่คนผลิตเพื่อขาย รัฐบาลต้องหยุดเอื้อบริษัทเอกชนไทยและไม่ควรมีส่วนทำลายแม่น้ำโขงอีกต่อไป เราขอเรียกร้องให้รัฐไทยดำเนินการแก้ในปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วอย่างแล้วอย่างเป็นรูปธรรม ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เราขอเรียกร้องให้รัฐไทยหยุดซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขงไม่ว่าจะเขื่อนใดใดเพราะไม่มีความจำเป็น ประกาศ ณ 17 ธันวาคม 2564