พญ.พรรณพิมล วิปุลากร โฆษก ก.สาธารณสุข ระบุ ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สุ่มสำรวจพฤติกรรมบริโภคสื่อของคนไทยปี 57 พบแต่ละบ้านมีทีวีอย่างน้อย 1 เครื่อง โดย 99.7% มีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตอย่างน้อย 1 เครื่อง รองลงมาโน้ตบุ๊ก 89% คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 79% ทำให้มีการชมโทรทัศน์ออนไลน์ผ่านจออื่นๆ ที่ไม่ใช่ทีวีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ช่วงที่ทีวีมีโฆษณา ก็จะใช้มือถือเล่นเฟซบุ๊ก หรือแชตผ่านวอทแอพ-วีแชท-ไลน์ โดย กทม.เล่นเฟซบุ๊กมากที่สุดในโลกหรือราว 12 ล้านคน จากผู้ใช้ 18 ล้านคนทั่วไทย อยู่อันดับ 13 ของโลกพบว่าผู้ที่ติดแชตหรือคลั่งแชต อาจมีอาการละเมอแชต(Sleep Texting) โดยจะลุกขึ้นมาแชตขณะหลับ เมื่อได้ยินเสียงข้อความส่งมา เพราะติดสมาร์ทโฟน-โซเชียลเน็ตเวิร์ก จนกลายเป็นความวิตกกังวล กระทั่งหลับโทรศัพท์ยังคามือ เมื่อมีเสียงแจ้งเตือนข้อความเข้า สมองที่ยึดติดกับโทรศัพท์ทุกขณะจิต ก็จะปลุกร่างกายที่หลับให้อยู่ในสภาวะละเมอ แล้วกดส่งข้อความโดยอัตโนมัติ นอกจากจะหลับไม่เต็มที่ ยังกระทบระบบร่างกาย ทำให้เครียด เสี่ยงโรคอ้วน ฝันร้าย กระทบการเรียน-งาน อีกทั้งข้อความที่ส่งขณะละเมออาจเกิดความเข้าใจผิดกันได้ เป็นการทำลายความรู้สึกโดยไม่เจตนาก็มี ทั้งนี้ คุณหมอแนะแชตแต่พอดี หากติดมากให้ลองอยู่ห่างๆ ตัดใจปิดมือถือ ปิดเสียง ปิดอินเตอร์เน็ตก่อนนอน...จะทำให้นอนหลับได้เต็มอิ่ม ร่างกายสดชื่น-แข็งแรงขึ้น