ที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 บ้านทุ่งนางแก้วตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล น้อง ๆ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ อารยเกษตรสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริ วิถีเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโคกหนองนา(แหล่งน้ำใจและความหวัง) โดยนักเรียนได้โชว์ทักษะการเรียนรู้ หลังได้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีจำนวน 11 ฐาน ไม่ว่าจะเป็นฐานเลี้ยงหอยขม เรียนรู้วิถีชีวิตของหอยขมการดูแลและการเจริญเติบโตของหอยขม จนเกิดทักษะและสามารถเลี้ยงเองได้ภายในโรงเรียนและต่อยอดไปถึงที่บ้าน ฐานเลี้ยงปลาหมอ ในร่องน้ำบ่อกลางสวนยางพารา เป็นการใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์และเพิ่มรายได้ซึ่งนักเรียนสามารถต่อยอดการเรียนรู้นำไปพัฒนาต่อได้ที่บ้าน โดยวันนี้ทีมผู้บริหาร สพป.สตูล นำโดยนายประหยัด สุขขี ผอ.สพป.สตูล ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจคณะครูและนักเรียนพร้อมให้คำชี้แนะ ฐานการเลี้ยงไก่ไข่ การเรียนรู้การให้อาหารการเก็บไข่ นักเรียนทุกคนจะได้ลงมือปฏิบัติจริง แล้วเรียนรู้ในการแก้ปัญหาโดยจะได้ประสบการณ์ในการลงมือทำจริง จะทำให้เด็กเกิดทักษะความสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง น.ส.ศรัณยา เตยแก้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ฐานปศุสัตว์) เล่าว่า เข้าโครงการนี้แล้วทำให้ได้ความรู้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงไก่ดูแลไก่อย่างไรให้ออกไข่ วิธีสังเกตไก่จะออกไข่ การให้อาหาร ธรรมชาติของไก่ไข่ และการเก็บโดยมีคุณครูคอยให้คำแนะนำอยู่ข้างๆ รู้สึกสนุกที่ได้ปฏิบัติจริงและคิดว่าจะนำไปสร้างอาชีพเสริมเลี้ยงครอบครัวได้ นอกจากนี้ยังมีการปลูกผักปลอดสารพิษ การทำนาข้าว รวมทั้งฐานการเรียนรู้การแปรรูปผลผลิต ที่ได้มาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยนักเรียนทุกคนก็จะเรียนรู้ในเรื่องของการจำหน่ายในช่องทางใกล้บ้าน อย่างผู้ปกครองและบุคคลภายนอก สร้างความสนุกสนานให้กับนักเรียนที่แฝงไปด้วยความรู้ นางวรรธิดา คมขำ ผอ.รร.ไทยรัฐ 111 ต.น้ำผุด อ.ละงู บอกว่า โครงการฯ นี้สิ่งที่ต้องการอยากให้เกิดคือทักษะชีวิตทักษะอาชีพ ควบคู่ไปกับคุณธรรมจริยธรรม เด็กกล้าที่จะคิดต่างและคิดนอกกรอบ ในโครงการนี้จะสอนให้เด็กคิดเป็นทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น ในพื้นที่จำกัด ด้วยโคกหนองนา โดยการบริหารจัดการพื้นที่คือ นาข้าว ปลูกผักเลี้ยงสัตว์ จะครบวงจรการผลิต พร้อมสนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน ที่เหลือสามารถจับจ่ายให้ ชุมชน นักเรียนสามารถที่จะนำความรู้และทักษะไปต่อยอดที่บ้านได้ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ ซึ่งผู้ปกครองหลายคนมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจจากสถานการณ์ covid- 19 บางท่านเพิ่งออกจากงาน บางท่านต้องกักตัว เด็ก ๆ จะสามารถนำวิชาชีพในโรงเรียนไปต่อยอดที่บ้าน สร้างอาชีพสร้างรายได้ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากหลายส่วนราชการที่เข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยการเกษตร วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเทคนิคสตูล โรงเรียนได้นำหลักกสิกรรมธรรมชาติมาใช้จัดการพื้นที่ และจัดสมดุลให้กับธรรมชาติ มีการปรับพื้นที่ 7 ไร่ 2 งาน คิดเป็นร้อยละ 30 จากพื้นที่ทั้งหมดของโรงเรียน เป็นนาข้าว เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ ประมง พืชแปรรูป เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชนด้วย