วันที่ 28 พ.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง สถานการณ์โลกกับความจริง – ความต้องการของคนไทย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,148 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 – 28 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.8 รับรู้ถึง ผลกระทบจาก วิกฤตโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศทั่วโลก ร้อยละ 81.4 ระบุวิกฤตโควิด และเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการว่างงาน ร้อยละ 82.9 ระบุ วิกฤตโควิด และภัยพิบัติน้ำท่วมในไทย ส่งผลรายได้ลดลง มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ร้อยละ 80.1 ระบุ วิกฤตโควิด ภัยพิบัติน้ำท่วม และวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ความสุขลดลง มีผลต่อ สุขภาพจิต และร้อยละ 79.1 ระบุ วิกฤตโควิด และ วิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลต่อระบบการศึกษาและการเรียนรู้พัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชน ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ผลการเปรียบเทียบอัตราการว่างงานระหว่างประเทศไทย กับ ต่างชาติ โดยอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เช่น ธนาคารโลก กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เว็บไซต์เทรดดิ้งอิโคโนมิคส์ และสถิติต่าง ๆ เป็นต้น พบว่า อัตราการว่างงานของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.25 เปรียบเทียบกับประเทศกัมพูชาร้อยละ 0.31 ลาวร้อยละ 1.0 พม่าร้อยละ 1.79 อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูงกว่าประเทศไทยมีอยู่จำนวนมาก เช่น ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 6.9 อินโดนีเซีย ร้อยละ 6.49 จีนร้อยละ 4.9 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 4.6 มาเลเซียร้อยละ 4.5 และเยอรมันนี ร้อยละ 3.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.8 ต้องการให้รัฐช่วยเหลือเยียวยา มุ่งให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 19.2 ไม่ต้องการ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ความต้องการอื่น ๆ ของประชาชนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้อง ได้แก่ ต้องการให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ได้ ร้อยละ 81.3 ต้องการให้มีมาตรการช่วยเหลือด้านรายได้ ลดรายจ่ายของประชาชน เช่น โครงการคนละครึ่ง การประกันรายได้เกษตรกร พืชผลการเกษตร ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น ร้อยละ 81.0 ต้องการให้ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจได้ ร้อยละ 80.2 ต้องการให้ใช้โอกาสนี้พัฒนาทักษะของผู้ว่างงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอนาคต ร้อยละ 78.6 และต้องการให้มีการปรับมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มกับงบประมาณที่มีอยู่จำกัด ร้อยละ 77.4 ตามลำดับ ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ ชี้ให้เห็นอัตราการว่างงานของประชาชนคนไทยเมื่อเปรียบเทียบกับนานาประเทศทั่วโลกจะพบว่าอยู่ในอัตราต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ จำนวนมาก เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เยอรมัน สหรัฐอเมริกา และจีน เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าการมีงานทำของคนไทยยังอยู่ในระดับที่สามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและยังสามารถควบคุมผลกระทบจากวิกฤตโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาได้ ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาล เร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านอินเทอร์เน็ตและออนไลน์อื่น ๆใส่เสริมให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีเสถียรภาพความปลอดภัยในไซเบอร์ (Cyber Security) เอื้อต่อการประกอบสัมมาอาชีพ การมีงานทำที่สุจริตของประชาชน และการศึกษาของนักเรียน นักศึกษา โดยผลการศึกษาครั้งนี้พบ เป็นความต้องการอันดับแรก ขณะเดียวกันต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการต่อเนื่อง สนับสนุนด้านรายได้และลดรายจ่าย เช่น โครงการคนละครึ่ง การประกันรายได้เกษตรกร พืชผลทางการเกษตร ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น “ถ้าหากในช่วงเวลานี้ ยิ่งรัฐบาลมุ่งเน้นลงทุนปรับฐานโครงสร้างพื้นฐาน ออนไลน์ที่ล้ำสมัยและประชาชนเข้าถึงได้ง่ายมากกว่าที่ผ่านมา และมีกฎหมายสนับสนุนส่งเสริมการทำงานของประชาชนผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นเข้ากับยุคสมัยวิถีใหม่ (New Normal) ยิ่งจะทำให้อัตราการว่างงานลดลงไปและเพิ่มช่องทางเอื้อให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น และถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการปรับเปลี่ยนประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมอนาคตไปพร้อมกัน และที่สำคัญต้องไม่ลืมให้ความสำคัญ ดูแลสุขภาพจิตของประชาชนไปด้วยกัน” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว