เมื่อเวลา 14.20 น. วันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ชานชาลาที่ 3 สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ อ.เมือง จ.นครราชสีมา พบประชาชนจำนวนมากได้มารอใช้บริการขบวนรถท้องถิ่น 427 นครราชสีมา-อุบลราชธานี เพื่อเดินทางกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต.กันอย่างคึกคัก ถือเป็นปรากฏการณ์ที่มีจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟมากที่สุด นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาดร่วม 2 ปี เนื่องจากช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่ผ่านมาทั้งปีใหม่ สงกรานต์ วันเข้าพรรษา ฯ ทางราชการไม่ให้เป็นวันหยุดรวมทั้งมิให้จัดงานรื่นเริง ซึ่งการเลือกตั้ง อบต. ที่ว่างเว้นมากว่า 8 ปี ที่สำคัญผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นเครือญาติและคนที่รู้จักมักคุ้นเป็นพิเศษ จึงต้องเดินทางกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ขณะเดียวกันที่สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาที่ 2 หรือ บ.ข.ส ใหม่โคราช ประชาชนได้ทยอยมาซื้อตั๋วเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม เพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต. ที่บ้านเกิดค่อนข้างหนาแน่น ท่ามกลางการตรวจคัดกรองตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ด้าน พ.ต.ท ระพีพงษ์ จิรพัฒนาลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.สนง.กกต.จ.) นครราชสีมา เปิดเผยว่า มาตรการป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งช่วงคืนหมาหอนได้ประสานขอสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว 9 ชุด เตรียมพร้อมออกตรวจสอบและระงับเหตุรวมทั้งลาดตระเวนในพื้นที่เป้าหมายโดยเน้น อบต.ขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในละแวกชานเมืองที่เตรียมยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลและมีงบบริหารจัดการค่อนข้างมากรวมทั้งมีผู้สมัครนายกและสมาชิกหลายคน บางพื้นที่เป็นศักดิ์ศรีของตระกูลทำให้การแข่งขันเข้มข้น โดยมี อบต.หนองบัวศาลา อบต.หนองจะบก อบต.สีมุม อ.เมือง อบต.ธงชัยเหนือ อ.ปักธงชัย อบต.หนองสาหร่าย อบต.จันทึก อ.ปากช่อง อบต.หนองตะไก้ อบต.นากลาง อ.สูงเนิน อบต.กระเบื้องใหญ่ อบต.กระชอน อ.พิมาย ได้จับตาเป็นพิเศษ และช่วงคืนที่ผ่านมาได้มีเบาะแสแจ้งเข้ามาหลายช่องทางโดยเฉพาะแอพพลิเคชั่น “ตาสับปะรด” และเสียงตามสาย แต่ไม่พบการกระทำผิดแต่อย่างใด ทั้งนี้มีได้มีการยื่นคำร้องจำนวน 10 เรื่อง เช่นการแจกสิ่งของผู้ประสบภัยน้ำท่วม นำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งให้ชาวบ้าน นำพวงหรีดที่มีชื่อผู้สมัครไปเคารพศพ การใส่ร้ายป้ายสีกันและกำนัน ผู้นำชุมชนที่ อ.พิมาย อ.ปักธงชัย วางตัวไม่เป็นกลาง ตนได้สั่งการให้เจ้าพนักงานสืบสวนลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงมาประกอบสำนวนคำร้อง