กรมชลประทานร่วมกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 9 จังหวัดลุ่มน้ำมูล ประกอบไปด้วยจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ร่วมกันสืบสานโครงการตามแนวพระราชดำริ เพื่อฝ่าวิกฤติด้านน้ำและส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้กิจกรรมการอบรมหลักสูตรการเรียนรู้และเตรียมความพร้อม โครงการพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำขนาดเล็กด้านทรัพยากรน้ำพื้นที่ 9 จังหวัดลุ่มแม่น้ำมูล วันที่ 26 พ.ย.64 นายสาธิต มณีผาย ที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน โดยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ให้ความสำคัญ ยินดีให้การสนับสนุน และมีความพร้อม ที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ 9 จังหวัดลุ่มแม่น้ำมูล เพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้ในการสำรวจและพัฒนาปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กในชุมชนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ รวมถึงวางแผนและบริหารจัดการ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และกิจกรรมด้านอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยโครงการฯ อบรมดังกล่าวที่จัดขึ้น มีเป้าหมายให้คณะทำงานฯ ระดับท้องถิ่น ทั้ง ปลัดอำเภอ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน วิศวกร และเจ้าหน้าที่ช่าง ได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สนับสนุนข้อมูล เพื่อร่วมกันวางแผนพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง ผ่านการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบัน สำหรับหลักสูตรการเรียนรู้และเตรียมความพร้อม โครงการพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำขนาดเล็ก ด้านทรัพยากรน้ำพื้นที่ 9 จังหวัดลุ่มแม่น้ำมูล มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อเสริมสร้างความรู้งานพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ ให้ทีมปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมถึงระบบการบริหารจัดการแผนงานโครงการและฐานข้อมูลสำหรับบูรณาการแผนเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย (THAI WATER PLAN) โดยในการอบรมฯ มีวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมอบรมทั้งระดับท้องถิ่นและระดับอำเภอ ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนโครงการฯในพื้นที่ให้มีความสมบูรณ์ โดยเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงแนววิธีปฏิบัติในการออกสำรวจรายละเอียดของแหล่งน้ำที่ต้องซ่อมแซม ปรับปรุงและเสริมศักยภาพให้มีความชัดเจน ถูกต้อง ตรงกับข้อเท็จจริง รวมไปถึงการวางแผนงานโครงการฯให้สามารถนำมาใช้ประกอบการจัดทำคำของบประมาณในช่องทางต่างๆ ได้ต่อไป ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในโครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ 9 จังหวัด ลุ่มน้ำมูล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก เพื่อให้ประชาชนมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรอย่างเร่งด่วน โดยกิจกรรมนี้จะจัดขึ้นรวมทั้งหมด 11 ครั้ง และได้ดำเนินการแล้วเสร็จไป 2 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดร้อยเอ็ด และจะมีขึ้นในครั้งต่อไป ที่จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ตลอดทั้งเดือนธันวาคม 2564 นี้