ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย วิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวันได้เกิดขึ้นมาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1954-55 โดยรัฐบาลจีนหรือสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ทำการโจมตีทิ้งระเบิดเกาะต่างๆที่อยู่ในปกครองของรัฐบาลจีนก๊กมินตั๋ง หรือสาธารณรัฐจีน และรัฐบาลสหรัฐฯได้ตอบโต้ด้วยการแทรกแซงอย่างแข็งขันจนทำให้รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ต้องยุติการโจมตี วิกฤตการณ์ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปีค.ศ.1958โดยเกิดขึ้นอีกครั้งระหว่างจีนคอมมิวนิสต์ และจีนก๊กมินตั๋ง ทั้งนี้รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ได้ระดมยิงปืนใหญ่ถล่มหมู่เกาะรอบนอกของเกาะไต้หวัน เช่น เกาะคีมอย และเกาะมัทสุ และชายฝั่งตะวันออกของเกาะไต้หวัน นอกจากนี้จีนแผ่นดินใหญ่ยังส่งกองเรือรบและกองเรือสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก เพื่อยึดเกาะดองดิง แต่กองทัพเรือของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ตอบโต้ด้วยการส่งกองเรือไปทำลายการโจมตีของกองทัพเรือจีนคอมมิวนิสต์ไว้ได้ ทั้งนี้โดยมีกองทัพเรือสหรัฐฯให้การสนับสนุน วิกฤตการณ์ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1995-1996 เกิดขึ้นจากการทดลองระดมยิงขีปนาวุธของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่พุ่งเป้ามายังพื้นที่ใกล้เคียงกับหมู่เกาะไต้หวันของจีนก๊กมินตั๋ง ตั้งแต่ช่วงวันที่ 21 กรกฎาคม 1995 จนถึง 23 มีนาคม 1996 ซึ่งรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ตั้งใจจะส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลไต้หวันในยุคของประธานาธิบดีลีเต็งฮุย ในการที่ท่านพยายามดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ขัดแย้งกับนโยบายจีนเดียวของรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ และการยิงในชุดที่ 2 ก็เป็นการเตือนชาวไต้หวันในการตัดสินใจในการเลือกประธานาธิบดีที่มีนโยบายประนีประนอมกับจีนแผ่นดินใหญ่ กับอีกฝ่ายที่แข็งกร้าวกับจีนคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ปี มานี้ก็มีความวิตกกังวลในหมู่ผู้ที่สนใจการเมืองระหว่างประเทศและนักยุทธศาสตร์ทั้งหลายว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงอาจจะก่อให้เกิดวิกฤตการณ์อีก ด้วยปัจจัย 3 ประการคือ 1.กองทัพปลดปล่อยประชาชน People Liberation Army (PLA) ซึ่งประกอบด้วยกองทัพบก เรือและอากาศ กำลังใกล้จะประสบความสำเร็จในขีปนาวุธและกำลังพลที่พร้อมจะบุกไต้หวันได้ ประกอบกับความสำเร็จในการรุกทางการเมือง ที่จะทำให้ไต้หวันยินยอมรวมกับจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้จากคำให้การของนายพลเรือฟิลิป เดวิดสัน ผู้บัญชาการกองกำลังอินโด-แปซิฟิกต่อกรรมาธิการวุฒิสภาในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ว่าจีนคอมมิวนิสต์คงจะใช้ความพยายามที่จะยึดไต้หวันด้วยกำลังภายในเวลาไม่เกิน 6 ปี 2.ในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในระหว่างปี ค.ศ.2020-2021 เครื่องบินรบของจีนได้บินเข้ามาในเขตน่านฟ้าของไต้หวันโดยเฉพาะในช่วงปี ค.ศ.2020 ได้ทำการบินละเมิดน่านฟ้าไต้หวันเกือบทุกวัน ในแต่ละครั้งมีฝูงบินจำนวนมาก และสูงสุดถึง 37 ลำที่ข้ามเส้นแบ่งครึ่งช่องแคบไต้หวัน ส่วนในปี ค.ศ.2021 ในเดือนมกราคมมีฝูงบินของ PLA 13 ลำบินเข้ามาในเขตป้องกันของไต้หวัน ทางการจีนคอมมิวนิสต์ได้แถลงข่าวการซ้อมรบของ PLA ใกล้ช่องแคบไต้หวันในเดือนกันยายน ค.ศ.2020 ว่าไม่ใช่การเตือน แต่เป็นการฝึกซ้อมที่จะยึดไต้หวัน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนพากันคาดคะเนว่า ปักกิ่งกำลังเตรียมตัวที่จะเข้ายึดเกาะพลาตัส ซึ่งอยู่ในการควบคุมของไต้หวัน แต่อยู่ห่างจากเกาะไต้หวัน 250 ไมล์ นักวิเคราะห์ด้านการทหารให้ความเห็นว่า ที่จีนดำเนินกดดันหรือข่มขู่ด้วยแสนยานุภาพนี้ เป็นการทำสงครามจิตวิทยาเพื่อให้ชาวไต้หวันได้ตระหนกตกใจและทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่าพวกเขาจะไม่มีวันปลอดภัยตราบใดที่ยังไม่รวมตัวเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้การกดดันดังกล่าวยังมีผลทำให้กองทัพไต้หวันต้องตะเกียกตะกายเพิ่มแสนยานุภาพของตนเอง โดยเฉพาะกำลังทางอากาศอันจะเป็นผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการซ่อมบำรุงและงบประมาณ ในอีกมุมมองที่แตกต่างนักวิเคราะห์ด้านการทหารจำนวนหนึ่งมองว่า เหตุกาณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันนี้ ในความเป็นจริงเกิดจากการกดดันของสหรัฐฯที่ได้ส่งกองเรืออินโด-แปซิฟิกเข้าไปเคลื่อนไหวในบริเวณนั้น และบริเวณใกล้เคียง ดังปรากฏว่าไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์ทางทหารที่สหรัฐฯจะส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าไปปฏิบัติการถึง 6 ลำพร้อมๆกัน นอกจากนี้ยังจัดให้มีการซ้อมรบร่วมกับไต้หวันและญี่ปุ่นในทะเลญี่ปุ่นอีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอยังไปเชิญชวนกองเรือของอังกฤษ ออสเตรเลีย และเยอรมนีให้เข้ามาเคลื่อนไหวในทะเลจีนใต้ และทะเลญี่ปุ่น ทั้งนี้นับเป็นความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดความสับสนในนโยบายต่างประเทศ นั่นคือด้านหนึ่ง ยอมรับความเป็นหนึ่งเดียวของจีน ตามที่ได้มีการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่ปี ค.ศ.1979 และติดต่อกับไต้หวันในฐานะองค์กรหนึ่งเท่านั้น หากย้อนไปในปีค.ศ.1971 สหรัฐฯก็ยอมรับสถานะของจีนแผ่นดินใหญ่หรือสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแทนจีนไต้หวัน ในขณะเดียวกันสหรัฐฯก็ยังมีข้อตกลงที่จะค้าอาวุธยุทโธปกรณ์กับไต้หวันด้วยเอกสารส่วนตนกับไต้หวัน และข้อตกลงนี้ยิ่งขยายตัวมากขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.2018 เมื่อสหรัฐฯเริ่มมีปัญหากับจีน นับแต่นั้นมาสหรัฐฯก็เริ่มส่งบุคลากร โดยเฉพาะทางทหารไปไต้หวันมากขึ้น ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งถ้ามองในแง่กฎหมายระหว่างประเทศไม่ถือว่าถูกต้องและเป็นภัยคุกคามในสายตาของจีน นั่นก็เท่ากับเป็นการบีบให้จีนต้องเพิ่มแสนยานุภาพ ทำให้ต้องไปลดทอนงบประมาณในด้านอื่นๆในการพัฒนาประเทศเพื่อป้องกันตนเอง ทั้งนี้สหรัฐฯ นอกจากจะได้ประโยชน์ด้วยการทำให้จีนต้องชะลอการพัฒนาตนเองแล้ว อุตสาหกรรมทางทหารของสหรัฐฯก็ได้ประโยชน์จากการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯมากขึ้น ตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงกันยายน 2020 กองเรือสหรัฐฯได้เดินทางผ่านช่องแคบไต้หวัน และมีเรือรบบางลำจอดแวะที่เกาะไต้หวัน ขณะที่จีนเองก็ส่งกองเรือและฝูงบินคอยติดตามความเคลื่อนไหวนี้ การแสดงออกของแสนยานุภาพสหรัฐฯในช่องแคบไต้หวัน นำมาซึ่งความสับสนในนโยบายของวอชิงตัน ซึ่งผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำเดี่ยวของโลก ภายหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น สิ่งที่สหรัฐฯคาดไม่ถึง คือ การเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนในช่วงเวลาอันสั้น ซึ่งในช่วงนั้นสหรัฐฯ อาศัยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเป็นผู้นำโลกเพียงผู้เดียว ผูกขาดธุรกรรมต่างๆโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี จึงถ่ายโอนองค์ความรู้ให้จีนเป็นผู้ผลิตในต้นทุนที่ถูกทำให้ธุรกิจสหรัฐฯ เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยคาดว่าจีนคงจะไม่อาจไล่ทัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ซึ่งผิดคาดอย่างยิ่ง จึงทำให้สหรัฐฯต้องรีบเร่งที่จะหยุดยั้งความเติบโตของจีน โดยการสร้างพันธมิตรเพื่อปิดล้อมจีนอย่าง QUAD และ AUKUS ตลอดจนประเทศในอาเซียน ซึ่งบางประเทศมีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้กับจีน น่าคืดว่าความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน นั้นเป็นอีกบริบทที่สหรัฐฯจงใจสร้างขึ้นมาเพื่อกดดันจีนหรือไม่ ลองคิดดูว่าในสมัยประธานาธิบดีเคเนดี สหภาพโซเวียตต้องการไปติดตั้งขีปนาวุธที่คิวบา ซึ่งอยู่ไม่ห่างสหรัฐฯมากนัก สหรัฐฯยังไม่ยอมและพร้อมประกาศสงคราม แต่ที่ไต้หวัน ซึ่งอยู่ใกล้แผ่นดินใหญ่อย่างมาก หากสหรัฐฯไปติดอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยให้ จะเป็นการคุกคามจีนหรือไม่ และถ้าจีนไม่ยอมจะก่อให้เกิดสงครามได้หรือไม่ และใครเป็นผู้ก่อ ส่วนการจะยุติความเสี่ยงต่อสงครามนี้ต้องเกิดจากนโยบายที่ชัดเจนของทั้ง 2 ฝ่ายและต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง