กรมชลประทาน วางแผนปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำโดมน้อย จ.อุบลราชธานี หลังเปิดใช้งานมากว่า 40 ปี หวังเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น วันที่ 24 พ.ย.64 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดี กรมชลประทาน เปิดเผยภายหลัง นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปติดตาม “โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำโดมน้อย”ว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อย  ตำบลโนนกลาง อำเภอพิบูลมังสาหาร เป็นโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ ประกอบด้วยโรงสูบน้ำติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 10 เครื่อง คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายความยาว 65.6 กิโลเมตร ฝั่งขวา 25 กิโลเมตร รวมทั้งคลองส่งน้ำสายซอยและแยกซอยรวมกัน 193 กิโลเมตร ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2527 และใช้งานมากว่า 40 ปี “จากการหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่โครงการและกลุ่มเกษตรกร พบว่าพื้นที่ดังกล่าว ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อทำการเกษตร มีน้ำใช้ไม่ทั่วถึง ซึ่งในอนาคตหากไม่มีการแก้ไข อาจทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานตามมา ดังนั้นกรมชลประทาน จึงได้ทำการศึกษาแนวทางปรับปรุงโครงการ เพื่อให้โครงการฯมีการส่งน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วน และส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม ครอบคลุมพื้นที่อย่างทั่วถึง”นายเฉลิมเกียรติ กล่าว สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำโดมน้อย เป็นการปรับปรุงซ่อมแซมองค์ประกอบของโครงการฯให้ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ เพื่อลดการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ ประกอบด้วย การปรับปรุงซ่อมแซมดาดคอนกรีตคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย ความยาว 6.96 กิโลเมตร การซ่อมแซมดาดคอนกรีตคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา ความยาว 6.96 กิโลเมตร การปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ที่เป็นอุปสรรคในการส่งน้ำ การรื้อถอนอาคารของคลองฝั่งขวา การปรับปรุงซ่อมแซมอาคารของคลองส่งน้ำฝั่งซ้าย การปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น รวมไปถึงงานปรับปรุงแก้ไขปัญหาตะกอนทราย และวัชพืชในคลองส่งน้ำ ตลอดคลองสายใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีงานเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน มีระบบส่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อเสริมระบบส่งน้ำเดิม ได้แก่ การสร้างอาคารรับน้ำอาศัยแรงโน้มถ่วงจากอ่างเก็บน้ำสิรินธร ไปยังพื้นที่ปลายคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา พร้อมทั้งก่อสร้างสถานีสูบน้ำแห่งใหม่ ขนาด 3.1 ลูกบาศก์ต่อวินาที และสถานีสูบน้ำเพิ่มเติมบริเวณหัวงาน 2.25  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะเดียวกันยังได้มีการปรับปรุงขยายความกว้างของคลองสายใหญ่ฝั่งขวา ความยาว 8.10 กิโลเมตร และปรับปรุงขยายคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย 4 ช่วง ความยาวรวม 10.20 กม. อีกด้วย ทั้งนี้ โครงการฯดังกล่าว จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี หากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ จากระบบชลประทานเดิมที่ส่งน้ำได้ 131,035 ไร่ เป็น 176,010 ไร่ ช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ด้วยการติดตั้งระบบโทรมาตร การจัดรอบเวรในการส่งน้ำ และการจัดองค์กรผู้ใช้น้ำใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและพื้นที่รับประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น