วันที่ 20 พ.ย.64 ผศ.พงษ์รัตน์ ดำรงโรจน์วัฒนา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า จากการสำรวจความหลากชนิดของหอยทากจิ๋ว บริเวณเขาโต๊ะกรัง จ.สตูล เปรียบเทียบกับพื้นที่เขาอื่น ๆ ในจังหวัดสตูล ได้แก่ เขาหินปูนใน อำเภอละงู ทุ่งหว้า พบว่า พื้นที่บริเวณเขาโต๊ะกรัง มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหอยทากจิ๋ว ซึ่งพบความหลากชนิดของหอยทากจิ๋วมากกว่า 10 ชนิดซึ่งจัดว่ามีความหลากหลายมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ที่สำรวจ บ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและสะท้อนถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ ผศ.พงษ์รัตน์กล่าวว่า ในการสำรวจครั้งนี้พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับหอยทากจิ๋วในพื้นที่เขาโต๊ะกรัง ได้แก่ 1.หอยกาน้ำสีส้มสันขาว (Plectostoma sp.) หอยชนิดนี้ยังไม่สามารถระบุชนิด หรือระบุชื่อทางวิทยาศาสตร์ได้ในขณะนี้ การกระจายเฉพาะเขาโต๊ะกรังเท่านั้น ไม่พบการกระจายในพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดสตูล และประชากรที่พบมีจำนวนไม่มากนัก จัดเป็นชนิดพันธุ์ที่มีความจำเพาะต่อพื้นที่และอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น การค้นพบหอยชนิดนี้ จัดเป็นรายงานครั้งแรกของประเทศไทย และจังหวัดสตูล จากการสืบค้นเอกสารต่าง ๆ พบว่าหอยสกุลนี้มีการกระจายมากในประเทศมาเลเซีย แต่พบได้น้อยหรือหาได้ยากในประเทศไทย การค้นพบหอยชนิดนี้ บริเวณเขาโต๊ะกรัง จึงเป็นตัวสะท้อนถึงความสมบูรณ์ และความสำคัญของพื้นที่ ที่ควรอนุรักษ์ไว้สำหรับหอยทากจิ๋วที่เป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น (endemic species) ชนิดนี้ นักวิชาการมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า 2.หอยทากจิ๋วถ้ำที่ยังไม่สามารถระบุสกุลและชนิดได้ พบเฉพาะในถ้ำบริเวณเขาโต๊ะกรัง หอยมีขนาดเล็กกว่า 1 มม. ข้อมูลเกี่ยวกับชีววิทยา อาหารการกินต่าง ๆ ยังไม่มีข้อมูลใด ๆ ยังต้องรอการศึกษาเพิ่มเติม 3.หอยกระสวยจิ๋ว (Diplommatina spp.) พบหลากหลายชนิด เช่น หอยกระสวยจิ๋วกระบี่ (Diplommatina krabiensis) หอยกระสวยจิ๋วปากร่อง (D. canaliculata) หอยกระสวยจิ๋วฮิดากะ (D. hidagai) เป็นต้น รวมถึงหอยกระสวยจิ๋วที่ยังมาสามารถระบุชื่อได้อีก 2-3 ชนิด หอยเหล่านี้ ปกติทั่วไปมักพบเพียงชนิดเดียวในพื้นที่หนึ่ง ๆ แต่การที่พบหลากหลายชนิดในบริเวณเขาโต๊ะกรัง เป็นตัวชี้วัดหนึ่งของความสมบูรณ์ของพื้นที่ 4.หอยทากจิ๋วอื่น ๆ ข้อมูลเช่นเดียวกับข้อ 3 ผศ.พงษ์รัตน์กล่าว หอยทากจิ๋ว (microsnails) เป็นหอยทากบกที่มีขนาดของเปลือกเมื่อโตเต็มที่แล้วไม่เกิน 5 มิลลิเมตร สามารถพบได้ตามพื้นที่ที่เป็นภูเขาหินปูน (limestone areas)ในประเทศไทยมีรายงานไว้กว่า 100 ชนิด และส่วนใหญ่เป็นชนิดที่มีความจำเพาะต่อพื้นที่ (endemism) นั่นหมายความว่า ถ้าพื้นที่ที่พบหอยดังกล่าวถูกรบกวนหรือทำลาย หอยทากจิ๋วชนิดนั้น ๆ อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง อาจจะถึงขั้นสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ได้ “หอยทากจิ๋วมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศในแง่ของการเป็นผู้บริโภคลำดับต้น ๆ ในระบบนิเวศ เป็นหนึ่งใน ตัวกลางที่ส่งผ่านธาตุแคลเซี่ยมเข้าสู่ระบบนิเวศ และยังเป็นอาหารให้กับผู้ล่า ทำให้ระบบนิเวศมีความสมบูรณ์มากขึ้น” นักวิชาการผู้นี้ระบุ อนึ่งชาวบ้านรอบเขาโต๊ะกรัง ต.ควนโดน อ.ควนโดน และ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล ได้ร่วมกันคัดค้านการให้สัมปทานเหมืองแร่หินเนื่องจากมีการขอสัมปทานเมื่องเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2557 และปัจจุบบันอยังอยู่ในการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรมเหมืองแร่และชาวบ้านได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้ยกเลิกรายงานเวทีการรับฟังความเห็นประชาชนที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย โดยชาวบ้านกังวลว่าหากมีการทำเหมืองแร่จะเป็นการทำลายแหล่งหอยทากจิ๋วซึ่งเป็นทรัพยากรมีค่าของชุมชน