วันที่ 13 พ.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา วาระแรก ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ ที่มีประชาชนเข้าชื่อขอแก้ไขอย่างถูกต้อง จำนวน 135,247 คน มีสาระสำคัญตามหลักการและเหตุผลที่ภาคประชาชนของแก้ไข คือ 1.การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของรัฐสภา ในหมวดที่ 7 ว่าด้วยเรื่องรัฐสภา จากเดิมมีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว โดยให้เหตุผลวุฒิสภาเป็นกลไกสืบทอดอำนจของ คสช. โดยเพิ่มบทบาทให้สภาผู้แทนราษฎรและ ส.ส. ฝ่ายค้านตรวจสอบควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของ ครม. 2.การปรับโครงสร้างของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการเป็นองค์กรที่มีผลผูกพันทุกองค์กร มีผลต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ เป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายทางรัฐธรรมนูญทั้งหมด จนกลายสภาพเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ และมีการใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางเมือง โดยเสนอให้แก้ไขให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน มีที่มาจากการเสนอชื่อของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 3 คน ส.ส.ฝ่ายค้าน 3 คน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด 3 คน ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือก และห้ามศาลรัฐธรรมนูญกระทำการอันมีผลขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.การให้องค์กรอิสระต้องพ้นจากตำแหน่งทันที หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้ 4.การยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยแก้ไขให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระ ไม่มี ส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยวาระ 1 และ 3 ใช้เสียงสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ 2 ใน 3 ส่วนการแก้ไขวาระ 2 ใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร 5.การยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 257-261 ที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ 6.การเพิ่มหมวดเรื่องการลบล้างผลพวงการรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค.57 โดยให้คำสั่ง คสช. และหัวหน้า คสช. มีผลเป็นโมฆะทั้งหมด รวมถึงการให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ต่อต้านการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ โดยให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ก่อการรัฐประหาร และห้ามศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงรับรองความสมบูรณ์ของการรัฐประหารหรือความสมบูรณ์กฎหมายแก่ผู้ก่อการรัฐประหาร