ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย แม้ว่าผู้นำชาติต่างๆจะให้คำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ภายในปี 2065 รวมทั้งจีน สหรัฐฯ และอินเดีย ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับหนึ่ง สอง และ สาม แต่ในภาพความเป็นจริง ความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก จะทำให้เป็นแรงกดดันที่จะทำให้ผู้นำทั้งหลายไม่อาจทำตามสัญญาได้ ทว่าภาคประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่เห็นด้วยกับมายาคติของผู้นำของพวกเขา ในกลาสโกว์มีผู้คนไม่ต่ำกว่า 100,000 คน เข้าร่วมชุมนุมเพื่อกดดันบรรดาผู้นำที่ร่วมประชุม COP26 อันเป็นการประท้วงที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุม Fridays For Future ซึ่งเป็นขบวนการระหว่างประเทศของนักศึกษา ที่ถูกจุดประกายจากการชุมนุมและการลุกขึ้นปราศรัยของ Greta Thunberg ที่หน้ารัฐสภาสวีเดนในปีค.ศ.2018 Greta ในขณะนั้นมีอายุยังไม่ถึง 15 ปี แต่เธอมีเจตจำนง แน่วแน่ที่จะยุติการศึกษาในโรงเรียนและออกมารณรงค์เพื่อให้โลกได้ตื่นตัวและยุติการทำลายโลก ด้วยการสร้างมลภาวะ และ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเธอมีเหตุผลง่ายๆ คือ แม้เธอจะเรียนต่อไปและอาจประสบความสำเร็จในการศึกษา แต่อนาคตของเธอคงจะมืดมัว เพราะเมื่อถึงเวลานั้นวิกฤติการณ์โลกร้อนอันมีผลต่อสภาพภูมิอากาศจะรุนแรงเกินไปที่จะยุติกระแสการดิ่งลงของวิกฤตการณ์ที่เกิดจากภาวะโลกร้อนที่มีอุณหภูมิเพิ่มสูงจนยากเยียวยา ในการประท้วงที่กลาสโกว์นี้ได้มีนักเคลื่อนไหวเรื่องสภาพภูมิอากาศแปรปรวนเพราะโลกร้อนในระดับโลกหลายคนไปร่วมชุมนุม เช่น Evelyn Acham,Mikaela Loach,Raki Ap,Helena Gualinga และ Jon Bonifacio ในคำปราศรัยของ Loach เธอได้ประณามผู้นำของประเทศร่ำรวยที่ Cop26 ว่าพวกเขามีแต่การแสดงสุนทรพจน์ที่เต็มไปด้วยโวหารอันสวยหรู แต่ในความเป็นจริงพวกเขาทำเพื่อปกป้องและรักษาระบบกดขี่ของทุนนิยม และผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง Gualina ได้พูดถึงความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นต่อนักปกป้องสิ่งแวดล้อม เช่น เบื้องหลังการฆาตกรรมผู้นำชาวพื้นเมืองที่ลุกขึ้นมาปกป้องผืนป่าอเมซอน ที่ถูกทำลายโดยนายทุน โดยการฆ่าทุกครั้งมีนายทุนอยู่เบื้องหลัง และมีรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะพยายามกีดกันผู้ที่จะมาร่วมชุมนุมอีกเป็นจำนวนมาก ด้วยมาตรการที่อ้างว่าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด แต่ปรากฏว่าการระงับวีซ่าของผู้คนกว่า 30,000 นั้นมีเหตุผลเบื้องต้นหวังเพียงเพราะเขาเป็นนักปกป้องสิ่งแวดล้อม ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากภาวการณ์แห้งแล้งในบางพื้นที่ ถึงขนาดอดอยากล้มตายเพราะขาดแคลนอาหาร ส่วนในบางพื้นที่เกิดอุทกภัยร้ายแรง บางภาคส่วนที่อยู่ริมทะเลกำลังเผชิญกับภาวะน้ำทะเลท่วมสูง และกัดกลืนแผ่นดินในส่วนที่ลุ่มต่ำ เช่น พื้นที่ 1/3 ของบังกลาเทศ หรือบางส่วนของประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ยูกันดา ที่ต้องพึ่งพาการเกษตร ต้องพึ่งพาน้ำที่ขาดแคลนอย่างหนัก ผู้คนอดอยากหิวโหย ไม่มีอาหารจะกิน ไม่มีน้ำจะดื่ม ทั้งๆที่ประเทศในแอฟริกาส่วนใหญ่ผลิตก๊าซ Co2 น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในสหรัฐฯ จีน อินเดีย และยุโรป ในขณะที่หลายประเทศในตะวันออกกลางมีฐานะร่ำรวยจากการเป็นแหล่งผลิตพลังงานจากฟอสซิล เช่น น้ำมันก๊าซธรรมชาติ ร่วมกับบริษัทค้าน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ และยุโรปที่เรียกว่า Seven Sisters ส่วนจีนที่เป็นผู้ผลิตก๊าซ Co2 อันดับหนึ่งก็มีปริมาณสำรองถ่านหินเป็นอันดับหนึ่งของโลก จึงมีแรงจูงใจที่จะใช้พลังงานเหล่านี้เพราะมันง่ายและถูก มิหนำซ้ำยังไม่ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงาน ซึ่งมีต้นทุนสูงอีกด้วย ดังนั้นเหล่านักต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ที่กำลังจะถูกกลืนกินด้วยความเห็นแก่ตัว เห็นแก่รายได้เฉพาะหน้าของรัฐบาล และนายทุน ทั้งหลายที่มุ่งกอบโกยกำไร โดยไม่คำนึงถึงภัยพิบัติทั่วโลก จึงมารวมตัวกันอย่าง Mikaela จากจาเมกา ที่กำลังจะต้องจมน้ำทะเลในอีกไม่นาน Paki Ap จากปาปัว นิวกินีตะวันตก ที่มีป่าเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวิภาพ บัดนี้กำลังถูกทำลายด้วยการหักล้างถางพง และที่นับเป็นหายนะครั้งใหญ่ คือ การทำเหมืองทองคำ จากการที่รัฐบาลอินโดนีเซียเปิดให้เอกชนข้ามชาติเข้ามาทำเหมืองทอง ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นบริษัทจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังเปิดให้ BP ของอังกฤษทำโครงการก๊าซ LNG ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน จึงนับว่าเป็นการทำลายปอดที่ใหญ่เป็นอันดับสามรองจากป่าอเมซอน ถูกทำลายอย่างยับเยิน เช่นเดียวกัน นอกจากพืชพันธุ์สัตว์ที่ถูกทำลายแล้ว คนจำนวนมากก็อาจจะถูกทำลายลงกว่าครึ่งเช่นกัน ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ Raki ได้สะท้อนให้เห็นว่าเราได้ทำลายสภาพนิเวศ 4.6 พันล้านปี ด้วยเวลาเพียง 10 ปี ซึ่งไม่อาจย้อนกลับได้ เธอยังตั้งคำถามว่า นวัตกรรมและการพัฒนาคืออะไร นี่หรือคือความยุติธรรมสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในโลกร่วมกัน ทั้งนี้เธออ้างข้อมูลจาก UN IPCC ที่ระบุว่ามีเพียง 5% ของประชากรโลกที่มีอยู่ในชุมชนพื้นเมือง ได้อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพไว้มากกว่า 80% ของโลก พวกเขาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสำคัญที่สุดที่ถูกละเลยใน COP26 อันเป็นเพียงเวทีให้ผู้นำทั้งหลายมาแสดงวาทกรรมประโลมโลก Helena Gualinga เธอได้บรรยายถึงสภาพลำเค็ญและทุกข์ทรมานของชุมชนพื้นเมืองในพื้นที่อเมซอน โดยเฉพาะเธอมีประสบการณ์จากชุมชนของเธอในอเมซอน ส่วนของประเทศเอกวาดอร์ คนเหล่านั้นได้พยายามเจรจาต่อรองกับบริษัทข้ามชาติและนายทุนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม หลายคนถูกสังหาร ในขณะที่สัมปทานการขุดเจาะน้ำมันเพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยทุนข้ามชาติที่ไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากการกอบโกยกำไรให้มากที่สุด ทุกวันสถาบันการเงินและการลงทุนในสหรัฐฯและยุโรปให้เงินสนับสนุนและรับผลตอบแทนมหาศาล ในขณะที่ผู้คนที่ลุกขึ้นมาปกป้องระบบนิเวศถูกสังหาร จอน โบนิฟาซิโอ จากฟิลิปินส์ ได้สะท้อนถึงการแสดงออกที่ลวงโลกของผู้นำทั้งหลายที่เดินทางมาประชุม COP โดยพวกเขาจะกล่าวถึงอนาคต การเสริมสร้างพลังอำนาจของเยาวชนในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งๆที่เยาวชนจากทั่วโลกได้พยายามที่จะมีบทบาทในการปกป้องสภาพแวดล้อมเพื่ออนาคตที่พวกเขาจะต้องเผชิญหน้า แต่ในขณะที่ผู้นำแสดงโวหารอันสวยหรู เยาวชนกลับถูกกีดกัน ถูกบ่อนทำลายและถูกคุกคาม ในขณะที่มหาเศรษฐีและซีอีโอด้านเชื้อเพลิงถูกเชื้อเชิญมาบรรยายในที่ประชุม COP แต่พวกเราเยาวชนถูกกีดกันให้อยู่ในถนน ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราต้องเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรง และเกิดขึ้นบ่อยขึ้น ทำให้เกิดอุทกภัย และวาตภัยที่ทำลายบ้านเรือนและชีวิตผู้คนจำนวนมาก ขณะที่ผู้นำทำการปราบปรามการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และยังมีการสังหารหมู่ชาวพื้นเมืองลูมาด ที่ปกป้องระบบนิเวศ เช่นการทำเหมืองถ่านหิน และการปลูกป่าที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศไทยก็มีสภาพไม่แตกต่างกันเท่าไร และจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติเช่นกันกับชาวโลกทั้งหลาย แต่เราคงต้องถามตัวเองว่าเราคนไทยได้ตระหนักถึงภัยพิบัตินี้หรือเปล่า และเราได้ทำมาเพียงพอหรือไม่ที่จะปกป้องสภาพแวดล้อมอย่างจริงจัง