ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “ข้อตระหนักหนึ่งที่สังคมโลกต้องเรียนรู้ไว้ ก็คือการยืนยันว่า...การศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในตัวบุคคลและขบวนการทางสังคม...แน่นอนว่ามันไม่ได้เป็นเพียงแค่ การให้ความรู้ทางวิทยาการ เทคโนโลยี หรือความเชี่ยวชาญในกิจการด้านต่างๆเพียงเท่านั้น...แต่กับการศึกษาที่แท้นั้นยังให้ความเปี่ยมเต็มทางด้านจิตใจ หรือความเป็นทั้งหมดในตัวตนของมนุษย์ในแต่ละคนด้วย... ด้วยเหตุนี้...บรรดาเหล่าผู้รู้ชาวตะวันออก จึงมักจะแสดงทรรศนะกันออกมาว่า..การศึกษาแผนใหม่ซึ่งให้ความรู้เพียงเฉพาะด้านเดียว..จึงถือเป็นความล้มเหลวด้วยเหตุที่ว่ามันตัดสินทุกสิ่งเอาจากความสับสน ความทุกข์ยากของผู้คนในสังคม รวมทั้ง สงครามความขัดแย้งนานาที่เกิดขึ้นกับโลก ณ เวลานี้...” นี่เป็นเหมือนข้อสรุปของยุคสมัยที่...นับเป็นตราประทับอันหดหู่ที่ยากจะเลี่ยงพ้น..มันคือสาระสำคัญแห่งหนังสืออันทรงคุณค่าทางโลกทัศน์ของท่าน “รพินทรนาถ ฐากูร” ที่จะต้องเรียนรู้ทั้งด้วยสมองและหัวใจ.. “ปรัชญาและแนวคิดการศึกษาศานตินิเกตัน” ที่ยืนยันถึงว่า..นัยความคิดทั้งมวลที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้...ถือเป็นสายธารทางการศึกษาที่แสดงออกถึงจิตญญาณอันแท้จริงของตัวตนแห่งตนของมนุษย์... “สถาบันการศึกษาที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า มหาวิทยาลัยวิศวภารตี หรือเรียกกันโดยทั่วไปในนาม ศานตินิเกตัน ...ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ.1901(พ.ศ.2444)...120 ปีมาแล้ว...เมื่อเริ่มก่อตั้งโรงเรียนขึ้นมานั้น จุดมุ่งหมายของท่านฐากูรมีเพียง ความต้องการที่จะสร้างคุณค่าที่ถาวรให้กับกุลบุตรและกุลธิดา ภายในอินเดีย...ประเทศของท่านเท่านั้น โดยท่านต้องการเสนอรูปแบบของการศึกษา ชนิดที่เด็กๆต้องมีความพอใจ มีความสุข ไม่ว่าจะเป็นจากวิธีการสอน ที่นำเสนอต่อเด็กอย่างมีชีวิตชีวา หรือกระทั่ง บรรยากาศ สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน...โดยท่านฐากูรมีความเชื่อมั่นอย่างเอกอุ ในภาวะแห่งความเป็นอิสรภาพ ท่านปรารถนาอย่างยิ่งที่จะทำให้เด็กๆที่เรียนในโรงเรียนของท่าน สนุกสนาน เริงร่า และมีชีวิตที่เป็นอิสรภาพด้วย ...” ครูและนักเรียนแห่งโรงเรียนนี้ ...จึงมีชีวิตอยู่ร่วมกันเหมือนดั่งเป็นครอบครัวเดียวกัน ยึดมั่นกับสถานะแห่งคุณค่าทางศาสนา และใช้วิธีสอดประสานกลมกลืนเข้ากับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว...ต่อมาราวปีค.ศ.1918 (พ.ศ.2461)...ขณะที่โรงเรียนดำเนินไปด้วยดี...ท่านก็เกิดความคิดขึ้นมาอีกว่า..น่าจะมีศูนย์ค้นคว้าวัฒนธรรมตะวันออกขึ้นที่ศานตินิเกตันนี้ด้วย ท่านมีความมุ่งหวังให้ศานตินิเกตันเป็นศูนย์กลางแห่งการค้นคว้าศึกษาถึง คุณค่าทางศาสนา วัฒนธรรม ศิลปะ และอารยธรรมหลายกระแสที่เอเชียได้มอบให้กับโลก...เมื่อได้ตั้งจุดหมายนี้ไว้แล้ว ก็มีการจัดเตรียม และเปิดให้ มีการศึกษาค้นคว้าระดับสูงในสาขาวิชาสมัยโบราณ อาทิ คัมภีร์พระเวท วรรณคดีสันสกฤตโบราณ ภาษาวัฒนธรรมอาราบิกและเปอร์เชีย เป็นต้น...ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้จุดมุ่งหมายนี้ สมบูรณ์ขึ้น ท่านจึงได้ตั้ง โรงเรียนศิลปะและดนตรีขึ้นมาอีก...เพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง ในช่วงปีค.ศ.1920-1921(พ.ศ.2463-2464)ท่านฐากูรได้เดินทางไปยุโรป ในตอนนั้นท่านได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ในฐานะกวีนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก และในโอกาสนี้เองที่ท่านได้พบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักคิด นักเขียน และปัญญาชนชั้นนำในยุโรปสมัยนั้น ทำให้ความคิดของท่านเปิดออกกว้างกว่าเดิม ท่านรู้สึกว่า.. “จำเป็นที่จะต้องมีสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อเป็นที่พบปะกัน ระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก สถานที่แห่งนี้จะต้องเปิดโอกาสให้คนที่มาจากสองวัฒนธรรมนี้ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ศึกษาเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในบรรยากาศแห่งมิตรภาพ” ด้วยแนวคิดนี้เอง...ท่านฐากูรจึงได้เปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการในปีค.ศ.1921 ให้ชื่อว่าโดยก่อนหน้านี้คนโดยทั่วไปรู้สถาบันแห่งนี้ในนามโรงเรียนของท่าน ที่ศานตินิเกตัน...คำว่า”วิศวภ”วิศวภารตี”..”ได้รับการเสนอเข้ามาทีหลัง ซึ่งคำคำนี้หมายถึง...วัฒนธรรมนานาชาติหรือวัฒนธรรมสากลนั่นเอง เมื่อได้ตั้งสถาบันขึ้นมาแล้ว ท่านฐากูร ก็หวังว่า นักศึกษาหรือผู้มีความสนใจในลักษณะเดียวกันจากนานาชาติทั่วโลกจะรับคำเชื้อเชิญจากท่านให้ร่วมใช้ชีวิต และมาศึกษาค้นคว้ากันที่ศานตินิเกตัน โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือ เพื่อสวัสดิภาพ เพื่อความร่วมมือกัน เพื่อความก้าวหน้าทางด้านจิตใจ และเพื่อความสมบูรณ์พูนสุขของมนุษยชาติเป็นส่วนรวม นั่นจึงทำให้นักศึกษาทั้งจากตะวันตกและตะวันออก เดินทางมาพำนักที่ศานตินิเกตันภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว และเมื่อมาอยู่ร่วมกัน มิตรภาพและความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างเชื้อชาติย่อมเกิดขึ้น “การศึกษาของท่านมีลักษณะที่เปิดออกกว้าง ไม่จำกัดขอบเขตเฉพาะในห้องเรียน และหนังสือในหลักสูตร เพราะตัวท่านเองไม่ชอบห้องเรียน และระเบียบกฎเกณฑ์ที่คับแคบ ในวัยหนุ่ม ท่านเป็นนักศึกษาที่ค้นคว้ารากเหง้าของวัฒนธรรมอินเดียอย่างเอาจริงเอาจัง เริ่มจากยุคอุปนิษัท ลงมาเรื่อยๆ และได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา วรรณคดีสันสกฤตโบราณ และรหัสยวาทของกวีนักบุญในยุคกลางเช่น นานัค ไชยตันยะ หรือ กะบีร์” สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง..ที่ท่านฐากูรได้มอบไว้กับวัฒนธรรมร่วมสมัย คือการรื้อฟื้นธรรมเนียมปฏิบัติในคัมภีร์อุปนิษัท และพยายามทำให้สิ่งๆนี้เป็นแนวความเชื่อหรืออุดมคติของคนในชาติให้ได้...อย่างในกรณีของการดิ้นรนหาทางออกในลักษณะที่ยังสับสนในคุณค่า ก็ได้ยุติลงในช่วงปีค.ศ.1901-1906...ซึ่งเป็นช่วงที่ท่านเริ่มตั้งโรงเรียนที่ศานตินิเกตัน อาจกล่าวได้ว่ามันคือห้วงเวลาที่ท่านได้ฟื้นฟูแนวความคิดจนถึงระดับสูงสุด โดยการชี้ให้เห็นความเหนือกว่าอารยธรรมตะวันตกได้ด้วย...ท่านหวนกลับมาชี้ให้เห็นว่า .... “วัฒนธรรมฮินดูในอินเดียจะแก้ปัญหาความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นในสังคมอินเดีย ณ ขณะนั้นได้” ความคิดเช่นนี้สอดคล้องกับเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในชีวิตของท่านเองด้วย...คือท่านได้เข้าร่วมขบวนการ สวาเทสี..ขบวนการชาตินิยมเพื่อปลุกเร้าให้เกิดเอกลักษณ์ของชาติขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ เช่นในด้านอุดมคติของชาติ ความเป็นอยู่ หรือแม้แต่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย...ขบวนการนี้เกิดขึ้นในแคว้นเบงกอล ซี่งท่านฐากูรพยายามจะสร้างเอกลักษณ์ของชาติขึ้นมาใหม่ โดยวาดเค้าโครงการศึกษาของชาติ และโครงร่างของชุมชนที่พึ่งตัวเองได้ เริ่มจากหมู่บ้านในชนบท..ท่านฐากูรเสนอเค้าโครงการรณรงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางสังคมและประชาชนโดยใช้ “เมลา” หรืองานงานรื่นเริงในหมู่บ้าน และการฟื้นฟูสมาคมดั้งเดิมสมาคมดั้งเดิมในหมู่บ้านที่เรียกว่า “สมาช” ซึ่งชาวบ้านตั้งขึ้นเองเพื่อพัฒนาตัวเองในทุกด้าน สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาในงานทดลองด้านการศึกษาที่ศานตินิเกตัน...ครั้นเมื่อพูดถึงความเป็นชาตินิยม ท่านฐากูร ได้มุ่งเน้นไปที่คุณค่าทางศาสนา สิ่งที่มาร้อยรัดให้ผู้คนในประเทศรวมตัวกันได้นั้น แสวงหามาได้จากศาสนา และจากการรวมตัวกันในรูปของ “สมาช” หรือสมาคมในรูปแบบดั้งเดิมของหมู่บ้านนั่นเอง เหมือนกับชาวอินเดียทั่วไป ท่านฐากูรเชื่อว่า..ศาสนาฮินดู ยังเป็นสื่อกลางที่จะผสานข้อขัดแย้งประการต่างๆในสังคมเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือปัจจุบัน ชาตินิยมของท่านจึงแปลออกมาเป็นคุณค่าทางศาสนา และในคำสวดวิงวอนในบทกวี “คำสวดวิงวอนของอินเดีย”.. “แต่ขอให้เรายืนหยัดขึ้นอย่างมั่นคง และทนทุกข์ด้วยความเข้มแข็ง เพื่อสิ่งที่เป็นจริง เพื่อสิ่งที่เป็นความดี ...เพื่อสิ่งที่เป็นอมตะในมนุษย์ เพื่อประเทศของท่าน ซึ่งอยู่ที่การรวมใจทั้งหลายให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่ออิสรภาพ ซึ่งเป็นอิสรภาพสำหรับดวงวิญญาณ” “พยับแดด” นักแปลในเชิงจิตวิญญาณอันลุ่มลึก แปลหนังสือเล่มนี้ออกมาเมื่อ 36 ปีที่แล้ว...ด้วยศรัทธาแห่งพลังใจอันเปี่ยมล้น...ตราบใดที่การศึกษาและวิถีของการก้าวย่างสู่ความเติบโต ยังคงมีปัญหาในการสะดุดล้มทั้งต่อข้อปฏิบัติและความคิด ตราบนั้นการพิเคราะห์ถึงปัญหาในมิตินี้ ก็จะต้องดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างเพ่งพินิจ ถึงว่า...อะไรคือปริศนาของความล้มเหลว ไม่ลงตัว และไม่อยู่ในบริบทของความสำเร็จ ...คำตอบของปัญหานี้ย่อมคือแนวคิดสำคัญทางการศึกษาอันชวนใคร่ครวญยิ่ง...ภาพแสดงทางความคิดในประวัติศาสตร์ทั้งหมดที่ได้บังเกิดขึ้น โดยท่าน “รพินทรนาถ ฐากูร” จึงเปรียบได้ดั่งความจริงแห่งความมุ่งมาดปรารถนาที่จะให้ได้มาซึ่งอิสรภาพในสัจจะ อิสรภาพในความรัก และอิสรภาพในความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษย์ ที่เราจะบรรลุถึงได้ในอุดมคติเสมอ.. “เมื่อถึงวัยอันควร ข้าพเจ้าถูกส่งไปเข้าโรงเรียน แต่ดูเหมือนว่า..ความทุกข์ของข้าพเจ้าผิดธรรมดาและรุนแรงยิ่งกว่าเด็กโดยทั่วไป....”