ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย การประชุมสุดยอดอาเซียนได้เริ่มแล้ว โดยไม่มีตัวแทนจากเมียนมา โดยเฉพาะผู้นำอย่าง มิน อ่องหล่าย ซึ่งถือว่าเป็นการเสียหน้าอย่างยิ่ง สำหรับรัฐบาลเมียนมา แต่ก็มีการแก้เกี้ยวว่าจะไม่เข้าร่วมประชุมด้วย ถ้าผู้นำไม่ได้รับเชิญ ก็อาเซียนโดยเฉพาะเจ้าภาพคือ บรูไน เขาไม่เชิญจะเข้าประชุมได้อย่างไร ครั้งนี้นับว่าอาเซียนได้ปรับเปลี่ยนแนวทางไม่แทรกแซงการเมืองภายในประเทศ มาเป็นแนวทางคล้ายคลึงกับที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เคยนำเสนอไว้นั่นคือ “การแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์” “Constructive Intervention” โดยอาเซียนเสนอแนวทางไว้เพื่อให้เกิดการเจรจาสร้างสันติภาพ และนำประเทศเมียนมากลับเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลทหารเมียนมาทำเพิกเฉย และยังคงเดินหน้าทำการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงต่อไป ท่ามกลางการรุมประณามจากนานาชาติ และการจัดตั้งกองกำลังต่อต้านที่ขยายตัวมากขึ้นภายในประเทศ นอกจากการขยายตัวของกองกำลังต่อต้านรัฐบาลในเมียนมาแล้ว ยังมีการปฏิบัติการเชิงจิตวิทยานั่นคือ การจัดตั้งกองกำลังทหารหญิงขึ้นในวันประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน โดยมีการจัดตั้งกองกำลังทหารหญิงในสะกาย และรัฐกะยา “นักรบหญิงแห่งเมืองมยอง” ทั้งนี้ยังมีการจัดตั้งกองกำลังทหารหญิงที่กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง(Karenni Nationalites Defense Force-KNDF) รัฐกะยาที่อยู่ตรงข้ามแม่ฮ่องสอน อนึ่งสื่อเมียนมาต่างพร้อมใจกันเสนอข่าวการประชุมสุดยอดอาเซียนประหนึ่งจะเป็นการตอกย้ำในการเสียหน้าของรัฐบาล มิน อ่องหล่าย ในความเป็นจริง การจัดตั้งกองทหารหญิงของกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา แม้จะไม่มีผลในการรบอย่างเป็นนัยสำคัญ แต่มันมีผลในทางจิตวิทยาที่จะรวมคนทุกหมู่เหล่าเข้ามาต่อต้าน และที่สำคัญจะเป็นการไปกระตุ้นให้กลุ่มพลังสตรีในตะวันตกได้ออกมากดดันรัฐบาลของตนให้สนับสนุนการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ด้านสมาชิกอาเซียน นอกจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดตัวแทนอาเซียนเข้าไปสังเกตการณ์ในเมียนมา และมีท่าทีอันเป็นตัวหลักในการนำเสนอแนวทางการสร้างสันติภาพและการกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยของเมียนมาแล้ว มาเลเซีย และบรูไน ก็มีความเห็นเป็นไปในทำนองดียวกัน จากท่าทีของรัฐบาลบรูไนที่ไม่เชิญมิน อ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมสุดยอด และถ้อยแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียที่สนับสนุนท่าทีนั้น นายกรัฐมนตรีลี เซียนหลุง ก็ได้เร่งรัดให้รัฐบาลทหารเมียนมา ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพิเศษที่นำโดยอินโดนีเซีย โดยให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการชุดนี้ให้มากขึ้น ด้านนายกรัฐมนตรีไทยก็กล่าวในทำนองเดียวกัน โดยเน้นย้ำว่ามันเป็นภารกิจเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของอาเซียน ด้านนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ตอกย้ำว่ารัฐบาลทหารเมียนมา ไม่ให้ความร่วมมือกับอาเซียน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า อาเซียนมิได้ขับเมียนมาออกจากอาเซียน แต่เป็นเมียนมาเองที่ยกเลิกสิทธิของตนเองในการเข้าร่วมกับอาเซียน ซึ่งนับว่าเป็นคำกล่าวที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะเป็นท่าทีจากกัมพูชา ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับจีน และจีนเองนั้นก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา ทางด้านประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโจ ไบเดน ได้ปราศรัยในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนว่า สหรัฐฯเห็นด้วยกับมติของอาเซียน ในเรื่องแนวทาง 5 ประการ ในการนำสันติภาพมาสู่เมียนมา และชักจูงเมียนมาให้กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ไม่เพียงเท่านั้น รักษาการประธานาธิบดี รัฐบาลประชาธิปไตยเมียนมา นาย Duwa Lashi La และรัฐมนตรีต่างประเทศ Daw Zin Mar Aung ได้เข้าพบกับนาย Jake Sullivan ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยทำเนียบขาวได้ให้ข่าวว่า ทั้งสองฝ่ายร่วมกันปรึกษาหารือถึงปฏิสัมพันธ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับเมียนมา นอกจากนี้นาย Jake Sullivan ยังเน้นย้ำว่าสหรัฐฯสนับสนุนข้อเสนอของอาเซียน ด้านสหประชาชาติได้แต่งตั้ง Noeleen Hayzer สัญชาติสิงคโปร์ ให้เป็นผู้แทนพิเศษของ UN ในเรื่องเมียนมา ซึ่งเธอมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับรัฐบาลเมียนมา และคณะทหารมาก่อน เช่น การที่เธอได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือเมียนมา ภายหลังถูกพายุไซโคลนนากีส ถล่มเมื่อปี 2008 โดยเธอทำงานให้ UNESCAP ในการร่วมมือกับอาเซียน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีในการดำเนินการคลี่คลายปัญหาเมียนมาในปัจจุบันและอนาคต อย่างไรก็ตามรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ก็ไม่สู้พึงพอใจกับองค์สหประชาชาติเกี่ยวกับท่าทีในเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยกล่าวว่าสหประชาชาติใช้เรื่องนี้ในการแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา สำรับท่าทีของประเทศไทยในครั้งนี้ คือการที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันให้เมียนมาปฏิบัติตามข้อเสนอของอาเซียนในการเจรจาสร้างสันติภาพระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมา และรัฐบาลประชาธิปไตย และชนกลุ่มน้อยต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพและสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ แม้ว่านายกรัฐมนตรีไทยจะมิได้กล่าวถึง ข้อเสนอของอาเซียนโดยละเอียด แต่คำพูดแม้เพียงสั้นๆก็เป็นการสนับสนุนท่าทีของอาเซียนตามที่ได้ขยายความไปข้างต้นแล้วนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่ากระทรวงต่างประเทศได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับอาเซียนและรัฐบาลนายโจ ไบเดน ทั้งนี้อาจเกิดจากการพบปะระหว่างนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศไทยและนายบลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในการพบกันที่การประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว นอกจากนี้การประกาศท่าทีที่ชัดเจนของไทยในเรื่องเมียนมา โดยมีท่าทีที่เปลี่ยนไปจากการที่รัฐบาลไทยมักจะลังเลที่จะกดดันรัฐบาลทหารเมียนมา อาจเกิดจากการทำงานของคณะที่ปรึกษาของกระทรวงการต่างประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนสำคัญในพรรคเดโมแครตก็ได้ ดังนั้นในครั้งนี้ท่าทีของสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่จึงออกมาแบบฉันทานุมัติที่จะให้เมียนมา ปฏิบัติตามคำแนะนำของอาเซียน การไม่เชิญพลเอก มิน อ่องหล่าย จึงเป็นการก้าวไปอีกขั้นเพื่อกดดันเมียนมา เพื่อให้ร่วมมือกับอาเซียนมากขึ้นนั่นเอง งานนี้ต้องดูกันยาวๆ เพราะจีนที่เป็นตัวแปรหลักตัวหนึ่งยังไม่ได้ออกมาพูดอะไรเลย ส่วนสหรัฐฯก็มีแนวโน้มว่าจะให้การสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยเมียนมามากขึ้น คงต้องมีอะไรเกิดขึ้นในเมียนมามากกว่าที่เห็นในอีกไม่นานนัก