นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.พัทลุง 8 สมัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า...*พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 กับเรื่อง "คนเท่ากัน" พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ทรงกระทำเพื่อให้"คนเท่ากัน" อย่างน้อย ใน 2 เรื่อง ที่เห็นเด่นชัด กล่าวคือ 1.ทรงยกเลิกไพร่ 2.ทรงยกเลิกทาส -ทาส กับ ไพร่ ต่างกันนะครับ แต่ต่างกันอย่างไร ไปศึกษาเอาดูเถอะ การยกเลิกไพร่ และ ยกเลิกทาส แน่นอนว่าขัดประโยชน์ของเจ้าขุนมูลนายสมัยนั้นอย่างหนัก แต่ก็ทรงพระปรีชาสามารถทำให้ผ่านมาได้โดยไม่ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองเหมือนหลายประเทศ นี่เป็นการกระทำของพระมหากษัตริย์ ที่ทำให้"คนเท่ากัน" -การยกเลิกทาสในเมืองไทย มีอุปสรรคที่คาดไม่ถึงคือ ทาสส่วนหนึ่งเมื่อเป็นอิสระแล้ว กลับไม่ยอมเป็นไท แต่ยังอยากอยู่กับนายทาสอีก จึงต้องมีกฎหมายออกมาบังคับถึง 2 ฉบับ คือ พรบ.พิกัดเกษียณลูกทาสลูกไท พ.ศ.2417 และ พรบ.เลิกทาส รศ.124 (พ.ศ.2448) โดยบัญญัติว่าเมื่อเลิกทาสแล้ว ใครยังมีทาสอยู่ในครัวเรือนต้องมีความผิด ถูกลงโทษ นั่นแหละจึงทำให้ทาสหมดไป ตรงตามพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 5 -ลุ ปี 2564 ยังมีคนพูดถึงเรื่อง "คนไม่เท่ากัน" อีก ในโลกนี้ไม่ว่าในระบบการปกครองแบบไหนคนก็ไม่เท่ากัน ยิ่งเราอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม คนก็ยิ่งไม่เท่ากัน แต่ก็มีการแก้ไขเรื่องนี้ใน 2-3 แนวทาง คือ 1.ให้คนเท่ากันในหลักสิทธิมนุษยชน 2.ให้คนเท่ากันในนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ 3.ให้คนเท่ากันในทางกฎหมาย ที่เรียกว่า"ทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย" -ทาส และ ไพร่ หมดไปแล้ว ด้วยพระปรีชาญาณของในหลวงรัชกาลที่ 5 แต่ยังมีทาส และ ไพร่ มาเกิดใหม่ ไม่ยอมปลดปล่อยตัวเอง -ผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร กับการอัญเชิญพระเกี้ยวของชาวจุฬาฯเขาหรอก จะอัญเชิญหรือไม่ก็แล้วแต่ชาวจุฬาฯ แต่การที่มีบางคนพูดว่า การอัญเชิญพระเกี้ยวเป็นการแสดงถึงระบบศักดินา แล้วพยายามพาดพิงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นไม่บังควร ดูขบวนเสด็จของพระราชินีอังกฤษ และเครื่องประดับอิสริยยศ สิครับ นั่นประเทศต้นแบบของรัฐประชาธิปไตยนะครับ ไม่มีใครว่าเป็นศักดินา แต่เป็นความภูมิใจของคนอังกฤษ เรื่องนี้เป็นความล้มเหลวของอาจารย์ในจุฬาฯ ที่ไม่สามารถสั่งสอนลูกศิษย์ให้เข้าใจในเรื่องนี้ ผมว่า ปัญหานี้ มันใหญ่เกินการแบกรับของจุฬาฯไปแล้ว รัฐบาลน่าจะให้ความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง ในเรื่อง"คนเท่ากัน" อย่าให้เลยเถิดไปมากกว่านี้ ไม่งั้น สักวันหนึ่งคงมีคนเสนอให้ตัดขาคนที่สูงลงเพื่อให้ต่ำลงเท่ากับคนที่เตี้ยกว่า เพื่อทำให้คนเท่ากันแล้วคงยุ่งกันไปใหญ่