รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Harirak Sutabutr” ระบุว่า... ผู้บริหารองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยน่าจะเข้าใจผิดคิดว่า องค์กรตัวเองมีอำนาจที่จะยกเลิกพิธีอัญเชิญพระเกี้ยวในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ได้ การแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ หรือชาวธรรมศาสตร์อยากจะเรียกว่า ธรรมศาสตร์-จุฬา เป็นกิจกรรมประเพณีระหว่างสองมหาวิทยาลัยที่มีมาช้านานตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 เดิมนั้นจัดได้ว่าเป็นงานใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนทั้งประเทศ เนื่องเพราะความแปลกใหม่ของรูปแบบงาน มีขบวนพาเพรด มีเชียร์ลีดเดอร์ มีดรัมเมเย่อร์ มีขบวนล้อการเมือง และที่สำคัญคือมีการแปรอักษรของทั้งสองมหาวิทยาลัย ที่แม้ปัจจุบันก็ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดทำได้ดีเทียบเท่าสองมหาวิทยลัยนี้ ส่วนการแข่งขันฟุตบอลก็เข้มข้น ทั้งสองทีมเต็มไปด้วยนักฟุตบอลระดับชาติ เหมือนเอานักฟุตบอลทีมชาติแบ่งเป็น 2 ทีมมาแข่งกัน แม้ปัจจุบัน การแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ จะไม่ได้เป็นงานที่คนทั้งประเทศให้ความสนใจเท่าในสมัยก่อน เพราะมีกิจกรรมอื่นๆที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นมากมาย แต่สำหรับศิษย์เก่าส่วนใหญ่ของทั้งสองมหาวิทยาลัยซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ยังคงให้ความสนใจอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย ผู้จัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ คือสมาคมศิษย์เก่าอันได้แก่ สมาคมธรรมศาสตร์และสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้ง 2 สมาคมผลัดกันเป็นเจ้าภาพคนละปี แต่ละฝ่ายจะตั้งคณะกรรมการจัดงานขึ้นประกอบด้วยกรรมกรสมาคม ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ตัวแทนชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนชมรมเชียร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทน อมธ. และอบจ.ชุมนุมเชียร์ ชมรมเชียร์รับผิดชอบเรื่องการแปรอักษร และเชียร์ลีดเดอร์ ของแต่ละฝ่าย องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์หรือ อมธ และองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ อบจ รับผิดชอบจัดขบวนพาเหรดล้อการเมือง และรวมถึงขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว และขบวนอัญเชิญธรรมจักร ส่วนคณะกรรมการจัดงานฝ่ายเจ้าภาพ ก็จะจัดสถานที่ จัดพิมพ์บัตรเข้าชม จำหน่ายบัตร จัดถ่ายทอดสด และจัดหาสปอนเซ่อร์การแข่งขันและการถ่ายทอดสด จะเห็นว่า องค์การบริหารสโสมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงมีหน้าที่จัดขบวนพาเหรดเท่านั้น ดังนั้นอำนาจการตัดสินใจของ อบจ จึงมีเพียง ตัดสินใจไม่เข้าร่วมในการจัดงานฟุตบอลประเพณีเท่านั้น แต่หากจะต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงาน เช่น ต้องการให้ยกเลิกพิธีอัญเชิญพระเกี้ยว หรือพิธีอัญเชิญธรรมจักร จะต้องนำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการจัดงานทั้ง 2 ฝ่ายพิจารณา ไม่สามารถยกเลิกได้เอง ไม่น่าเป็นไปได้ว่า องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ทราบความจริงข้อนี้ ที่น่าเป็นไปได้คือ อบจ ต้องการแสดงจุดยืนที่จะไม่ให้ความสำคัญต่อสัญญลักษณ์ พระเกี้ยวมากกว่า ข้ออ้างที่ว่าเป็นการแสดงความไม่เท่าเทียมกัน เพราะคนเชิญพระเกี้ยวต้องนั่งบนเสลี่ยง แล้วต้องใช้นิสิต 30 คนหาม ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ต้องใช้เสลี่ยงก็ได้ สมัยก่อนก็ไม่ได้ใช้เสลี่ยง แต่มีหลายรูปแบบ นั่งบนรถก็มี รถเข็นก็มี ดังนั้นหากไม่ต้องการแสดงความไม่เท่าเทียมกันก็สามารถใช้วิธีอื่นแทนเสลี่ยงได้ ไม่ต้องยกเลิกแต่อย่างใด อยากจะขอบอกว่า นิสิตจุฬาทุกคน เมื่อเลือกที่จะสอบเข้าศึกษาในสถาบันแห่งนี้แล้ว ก็กรูณาอย่าได้พยายามปฏิเสธความจริงว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นได้อย่างไร อย่าได้ปฏิเสธ ไม่ให้ความสำคัญต่อรากเหง้าของสถาบันที่เราเลือกที่จะเข้ามาศึกษา นั่นเพราะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่สถาบันของพวกคุณแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นของนิสิตคนอื้นๆที่อาจไม่เห็นตรงกับพวกคุณ ที่สำคัญคือยังเป็นของศิษย์เก่าอีกจำนวนมากมายมหาศาล ที่พวกคุณจะต้องเคารพความคิดและความรู้สึกของพวกเขาด้วย โปรดอย่าได้คิดว่า ความคิดและการกระทำของพวกคุณเท่านั้น ที่เป็นความคิดและการกระทำที่ถูกต้อง