ว่าที่นักศึกษาวิศกรรมวอนขอโอกาสเรียนหลังถูกตั้งท่าเพิกถอนบัตรประชาชน เหตุพ่อแม่ครอบครัว “ปาทาน”ไทยพลัดถิ่นเมืองประจวบถูกเปลี่ยนแปลงลงรายการสัญชาติ ทีมนักกฎหมาย มธ.ทำจดหมายถึงกรมการปกครองแนะ 4 ข้อเสนอ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 นายโชไอซ์ ปาทาน เยาวชนคนไทยพลัดถิ่น อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนและครอบครัวซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่และน้อง 3 คนกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก เนื่องจากน้องทั้ง 3 คนอาจถูกเพิกถอนสถานะสัญชาติไทย หลังจากได้รับการรับรองสัญชาติตามมาตรา 7 ทวิวรรค 2 คือให้รับรองสัญชาติกับลูกต่างด้าวที่อยู่มาไม่น้อยกว่า 15 ปี โดยกรมการปกครองได้ส่งหนังสือมาที่จังหวัด และอำเภอได้ส่งมาถึงเทศบาล แล้วเทศบาลจึงส่งต่อมาที่พ่อแม่ของบุตรทั้งสาม เพื่อให้พ่อและแม่ไปอุทธรณ์การเปลี่ยนแปลงรายการลงสัญชาติจากคนถือบัตรเลข 0 ประเภทเกี่ยวข้องกับผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ไปเป็นคนถือบัตรเลข 0 ประเภทคนต่างด้าว ส่งผลให้น้องทั้ง 3 คนอาจต้องถูกเพิกถอนสถานะคนสัญชาติ เพราะหนังสือกรมการปกครองอ้างว่า การให้สัญชาติตามมาตร 7 ทวิวรรค 2 โดยไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีนั้น ให้กับลูกคนที่เป็น 1 ใน 19 กลุ่มตามนโยบายของรัฐบาล เท่านั้น แต่หากเป็นบุตรของคนต่างด้าวจะได้รับการรับรองสัญชาติไทยเมื่อจบปริญญาตรี “สำหรับตัวผมยังไม่ได้รับรองสัญชาติไทย เพราะตอนที่น้องๆได้ พวกเขาเป็นเด็ก ไม่ต้องผ่านการตรวจประวัติอาชญกรรม แต่ผมโตแล้ว จึงต้องผ่านการตรวจประวัติอาชญากรรม น้องๆ จึงได้รับบัตรประชาชนไปในปี 2563 แต่มาใน 2564 ก็มีการแจ้งว่า เราต้องจบปริญญาตรีก่อน จึงต้องดำเนินการใหม่ สำหรับผมที่จบปริญญาตรีแล้ว อำเภอก็จะให้ไปยื่นเรื่องใหม่ หลังตรวจสอบปริญญาบัตรแล้วว่าไม่ปลอม ผมรู้สึกเป็นห่วงน้องชายผมมาก เพราะเขาเรียนจบ ม.6 และสอบได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร หากเขาถูกถอนสถานะคนสัญชาติก็คงไม่ได้เรียนต่อเพราะครอบครัวไม่มีรายได้เพียงพอ และกู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาไม่ได้”นายโชไอซ์ กล่าว และว่า หนังสือแจ้งจากเทศบาลตำบลไร่เก่าบอกว่าพ่อและแม่ตนต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ มิเช่นนั้นก็จะถูกแก้ไขให้ไปอยู่กลุ่มอื่น นายฮัมดา ปาทาน อายุ 17 ปีน้องชายนายโชไอซ์กล่าวว่าได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการปกครองเพื่อวิงวอนขอไม่ให้เพิกถอนสัญชาติไทย ซึ่งขณะนี้ตนเรียนจบ ม.6 และต้องการศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ แต่ต้องจ่ายค่าเทอม 2 หมื่นบาทโดยตั้งใจว่าจะกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่หากถูกเพิกถอนก็ไม่สามารถกู้ได้ เพราะพ่อแม่มีรายได้รวมกันเดือนละ 18,000 บาทและไม่มีเงินเหลือเก็บเพราะอยู่กัน 6 ชีวิตซึ่งพี่ชายก็เพิ่งเรียนจบและยังไม่มีงานทำ “ผมรู้สึกเสียใจที่กำลังจะหมดโอกาสทางการศึกษา ผมมีความใผ่ฝันอยากเรียนสูงๆออกมาประกอบอาชีพสุจริตเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ อยากวิงวอนคุณลุงอธิบดีกรมการปกครองอย่าเพิ่งถอนสถานะทางทะเบียนของผมเลย”นายฮัมดา กล่าว ด้านนายภควินท์ แสงคง ที่ปรึกษาเครือข่ายการเเก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น 4 จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา กล่าวว่า ครอบครัวนายโชว์ไอ เดินทางเข้าประเทศไทยโดยพ่อเข้าเมื่อปี 2529และแม่ปี 2537 ทางจังหวัดระนอง เข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น 4 จังหวัด เมื่อปี 2549 โดยก่อนหน้านี้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าว ช่วงปี 2539-2540 จนปี 2552 ได้รับการถอนจากทะเบียนแรงงานต่างด้าว และสำรวจบุคคลตามยุทธศาสตร์ฯเมื่อปี 2554แต่เมื่อปลัดทะเบียนจังหวัดประจวบฯมีหนังสือขอความเห็นไปยังกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต่อกรณี พ่อและแม่ของโชไอซ์ เพื่อให้แก้ไขรายการประวัติทางทะเบียนกรณีการขึ้นทะเบียนสำรวจภายใต้ ยุทธศาสตร์ 18 มกรา 2548 ซึ่งจะส่งผลต่อตัวของน้องทั้ง 3 คน ที่จะขาดคุณสมบัติในการได้รับรองสัญชาติไทยจนกว่าจะจบปริญญาตรี จึงส่งผลให้ต้องเพิกถอนสถานะสัญชาติ และให้การรับรองอีกครั้งเมื่อจบปริญญาตรี บุตรทั้งสามคนจึงจะกลับเป็นเด็กไร้สัญชาติอีกครั้ง หากพ่อแม่ถูกบันทึกในสถานะคนต่างด้าวอื่น ซึ่งเด็กที่จะเดือดร้อนมากที่สุด ก็คือนายฮัมดา นายภควินท์กล่าวว่า เอกสารประกอบการประชุม การพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2555 ของคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ระบุว่านโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสถานะของชนกลุ่มน้อย โดยนโยบายที่มีต่อชนกลุ่มน้อยเป็นรายกลุ่ม คือ1.ประเภทกำหนดสถานภาพให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร มี 14 กลุ่มย่อย และ2.ประเภทที่ทางราชการมีนโยบายกำหนดสถานภาพให้อยู่อาศัยในประเทศไทยลักษณะชั่วคราว มี 2 กลุ่มคือมติ ครม.ผ่อนผันให้อาศัยในประเทศไทยชั่วคราวอย่างเป็นทางการ มี 3 กลุ่มและ ผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราวแต่ไม่เป็นทางการ มี 2 กลุ่ม และยังมีนโยบายการแก้ปัญหาสถานะบุคคลในภาพรวมยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ทั้งหมดได้กำหนดกรอบไว้หมดแล้ว ทำไมถึงจะเอาครอบครัวปาทานไปไว้ที่ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ “การไม่ทำตามนโยบาย หรือการจะปฏิเสธนโยบายอื่นๆที่เกี่ยวข้องและก้าวหน้า โดยการติดยึดติดอยู่กับกลุ่มคนโดยละเลยข้อเท็จจริงของการอาศัยในประเทศไทยมานาน โดยการให้แก้ไขรายการประวัติทางทะเบียนของ พ่อ-แม่ ครอบครัวปาทาน จึงไม่น่าจะสอดคล้องต่อนโยบายการแก้ปัญหาสถานะบุคคลเพื่อขจัดความไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ ของเด็กที่มีพ่อ-แม่เป็นคนต่างด้าว อาศัยในประเทศไทยนานเกิน 15 ปี โดยที่เด็กเกิดในประเทศไทยมีสูติบัตรเรียบร้อย การจะเอาพ่อ-แม่ ครอบครัว ปาทานของโชไอซ์ ไปอยู่ ชนกลุ่มน้อยอื่น จึงน่าจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จริงและรัฐก็จะสูญเสียโอกาสในการมีบุคลากรคุณภาพ”นายภัควินท์ กล่าว ขณะที่บางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร รองศาตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการปกครอง และเครือข่ายไทยพลัดถิ่น โดยมีข้อเสนอ 1.ขอให้อธิบดีกรมการปกครองดูแลให้บุตรผู้เยาว์ของนายอีรีและนางคันตีซา ปาทาน(พ่อและแม่นายโชว์ไอ) ยังคงมีสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรไทย ไม่ว่าจะมีการแก้ไขรายการสถานะบุคคลของบุพการีให้แตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ โดยการใช้ “คำร้องขอให้พิจารณาความจำเป็นที่จะต้องมีสัญชาติไทย” 2.ขอให้อธิบดีกรมการปกครองดูแลให้บุตรเยาวชน ของนายอีรีและนางคันตีซา กล่าวคือ นายโชว์ไอได้ยื่นคำขอรับรองสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรค 2 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2559 3.ขออธิบดีกรมการปกครองหารือไปยังสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด เพื่อชะลอการบังคับใช้หรือเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียน 4.ขอให้นายภควินท์ แสงคง และสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด ร่วมกันดูแลให้นายอีรีและนางคันตีซาให้ได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลตามกฎหมายอย่างถูกต้อ ขณะที่นางสุนี ไชยรส อาจารย์คณะนวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าความหวังความฝันของพี่น้องคนไทยพลัดถิ่น ที่ติดไปกับแผ่นดินที่เคยเป็นของประเทศไทยในอดีต แต่มีการตกลงในประวัติศาสตร์ให้เป็นของประเทศเมียนมาร์ และได้อพยพกลับมาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลายาวนาน ลูกหลานเกิดในแผ่นดินไทย ก็คือขอให้ได้มีสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎร เพื่อมีสิทธิมีส่วนร่วมในการเป็นคนไทยที่พวกเขาถือมั่นมาโดยตลอด จนมีการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับ แก้ไข พ.ศ.2555 เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติคนไทยพลัดถิ่นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น “วันนี้ครอบครัวของน้องไอซ์-โชไอซ์ ปาทาน ลูกศิษย์ของเรากำลังประสบปัญหาที่จะร้ายแรงยิ่งสำหรับชีวิตของน้องๆ 3 คน ที่ได้รับสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎร ทั้ง 4 คนเกิดในแผ่นดินไทยซึ่งย่อมได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา ทวิ วรรค 2 แต่มีประเด็นที่กรมการปกครองจะปรับปรุงการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนประวัติในทะเบียนราษฎรของพ่อแม่เด็กทั้ง 4 คน “ น้องไอซ์ เป็นลูกหลานคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับทุนจาก ม.รังสิต จบวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม เป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมที่กระตือรือร้น เป็นอดีตนายกสโมสรนักศึกษานวัตกรรมสังคม และได้รับคัดเลือกจาก ม.รังสิตเป็นคนดีศรีรังสิต เมื่อปี 2562 เขาช่วยงานพี่น้องไทยพลัดถิ่น ที่ม.รังสิต ทำMOU กับกรมการปกครองตั้งแต่ปี 2558 แม้เขาจะยังไม่ได้สถานะสัญชาติไทยก็ตาม และรอความหวังที่จบปริญญาตรีตอนนี้ จะได้สถานะสัญชาติไทยสักที ขอสังคมช่วยกันพิทักษ์สิทธิของครับครัวนี้”นางสุนี กล่าว