ในช่วงวิกฤตโควิด โครงการขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบกันทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่าบริษัทต่างๆ จะเริ่มทยอยให้พนักงานกลับมาทำงานบางส่วน ซึ่งกว่าจะกลับมาทำงานแบบเดิม 100% จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งผลกระทบเรื่องจำนวนผู้โดยสาร น้อยกว่าการคาดการณ์ถือเป็นความหนักใจของโครงการรัฐร่วมเอกชน (PPP) ที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหา และรัฐต้องไม่เสียประโยชน์ ทำให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน และภาครัฐต้องร่วมกันหาทางออก ซึ่งล่าสุด โฆษกรัฐบาลแจ้งมติคณะรัฐมนตรีให้ 3 ฝ่ายหารือหาทางออกร่วมกัน แต่คาดการณ์ว่าซีพีอ่วมแน่ เพราะถูกบีบให้จ่ายดอกเบี้ย โดยบ. เอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนคู่สัญญา การรถไฟแห่งประเทศไทยโครงการร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ร่วมหาทางออกกรณีสิทธิการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ในช่วงเวลาที่ผู้โดยสารลดวูบกว่า 80% จากปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด 19 จนต้องขอความเห็นใจการเยียวยาจากภาครัฐนั้น แต่ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มกว่าพันล้านบาท ตรวจสอบกลับไปถึงข้อมูลผู้โดยสารในช่วงก่อนและหลังโควิด พบว่ากรมการขนส่งทางราง เคยเปิดเผยข้อมูลปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าทุกระบบเดือน เม.ย. วูบเหลือ 527,835 คน ซึ่งแอร์พอร์ต เรลลิงก์หนักสุดเหลือเพียง 2.5 หมื่นคน จากวันละกว่า 70,000 - 90,000 คนต่อวันในช่วงก่อนโควิด 19 ระบาด ผู้สื่อข่าวยังรายงานอีกว่าในช่วงที่สถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มเข้ามาระบาดประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 2563 ส่งผลให้การใช้บริการระบบขนส่งทางรางมีปริมาณน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด  ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าจากข้อมูลผู้โดยสาร แอร์พอร์ต เรลลิงก์ช่วงระหว่างวันเดือน มค. - กย. 2564 ซึ่งมีการระบาดของ โควิด-19 ละลอกใหม่พบว่า ในเดือนสิงหาคม มีสถิติผู้โดยสารต่ำที่สุดเป็นประวัติการเหลือเพียงเฉลี่ย 9,356 คนต่อวัน ก่อนจะค่อยๆ กลับมาดีขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 14,644 ในเดือนกันยายน จึงคาดว่าเอกชนคงคำนวนแล้วว่างานนี้เจ็บหนักเพราะเรียกว่าเข้ามารับก็ขาดทุนทันที คิดกันเล่นหากจำนวนผู้โดยสารยังเป็นแบบนี้ต่อไป ซีพีคงต้องใช้เวลาเกิน 50 ปี กว่าคืนทุนค่าสิทธิ์ แต่ก็ต้องทำใจทำตามสัญญาไม่อย่างนั้นคนที่เดือดร้อนที่สุดจะเป็นประชาชนตาดำๆ ว่ากันว่าซีพีจึงยอมกลืนเลือด อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าแม้รัฐบาลจะยอมยืดหยุ่นให้ผ่อนชำระ และปรับปรุงแก้ไขสัญญาตามข่าวที่เสนอไปแล้ว แหล่งข่าววงในต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่างานนี้ไม่ฟรี รัฐรักษาผลประโยชน์เต็มที่ เพราะสั่งซีพีจ่ายก่อน 10% ประมาณ 1.6 พันล้าน ไม่พอหากมีการแก้ไขสัญญาหรือข้อตกลงใดๆ เพิ่มเติม ซีพีก็ต้อมยอมแลกกับดอกเบี้ยมหาศาลกว่า 1 พันล้าน คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ซีพี จะทำอย่างไรต่อไป คิดหนักทั้งดอกเบี้ย เงินมัดจำ และต้องรักษาสัญญาเดินรถตามกำหนด 25 ตค. นี่ยังไม่นับรวมถึงความกดดันว่าต้องทำให้ได้ ให้ดี และดีกว่าเดิม  สำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ภายใต้การให้บริการเดินรถโดย บริษัท เอเชีย เอรา วัน จะยังคงเดินหน้าให้บริการผู้โดยสารมี 8 สถานีบริการประกอบไปด้วย สถานีพญาไท สถานีปราชปรารภ สถานีมักกะสัน สถานีรามคำแหง สถานีหัวหมาก สถานีบ้านทับช้าง สถานีลาดกระบัง และสถานีสถานีสุวรรณภูมิ เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05.30 – 24.00 (ยกเว้นในช่วงปฏิบัติตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 เปิดดำเนินการถึง 23.00) มีค่าโดยสารระหว่าง 15 – 45 บาท