“ทีมเศรษฐกิจทันสมัยปชป." เสนอ 4 มาตรการเข้มข้นหลังยกเลิกเคอร์ฟิวส์ 17 จังหวัด ป้องกันติดเชื้อพุ่ง พร้อมเสนอให้ผ่อนปรน อำนวยความสะดวกต่างชาติลงทุนในไทย วันที่ 22 ต.ค.2564 นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ได้แถลงข่าวถึงการที่รัฐบาลมีมาตรการยกเลิกเคอร์ฟิวใน "17 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว" โดยประกาศมีผลบังคับใช้ 1 พฤศจิกายนนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี และสอดคล้องกับแนวทางของทีมเศรษฐกิจทันสมัยที่ได้เสนอประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่องที่ต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายเป็นลำดับขั้น เพราะเรื่องสาธารณสุข และเศรษฐกิจจำเป็นที่จะต้องเดินควบคู่กัน ไม่สามารถให้น้ำหนักกับประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ยกเว้นในสถานการณ์ที่มีการระบาดรุนแรงที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสาธารณสุขเป็นหลัก แต่เมื่อตัวเลขการติดเชื้อมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นภายใต้การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น จึงจำเป็นต้องให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นางดรุณวรรณ กล่าวว่ารู้สึกยินดีกับพี่น้องประชาชนใน 17 จังหวัดนำร่องรวมถึงกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการยกเลิกเคอร์ฟิวแล้ว แม้บางจังหวัดอาจมีบางพื้นที่ที่ยังต้องควบคุมแบบเข้มงวดอยู่ก็ตาม ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการเปิดประเทศ เพื่อเตรียมรับทั้งนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศ แต่อยากฝากไปถึงภาครัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ศบค. ว่า มาตรการใด ๆ ที่ออกมาขณะนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการคู่ขนานออกมาควบคู่กันไปด้วย เพราะเมื่อยกเลิกเคอร์ฟิวแล้วสิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาก็คือจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยมีมาตรการคู่ขนานที่ต้องเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านสาธารณสุขและกฎหมาย ดังต่อไปนี้ 1. การเตรียมความพร้อมเรื่องสถานพยาบาล โรงพยาบาลสนาม บุคลากรทางการแพทย์ในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการเตียงเพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดนำร่องที่ยกเลิกเคอร์ฟิว 2. เร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการยกเลิกเคอร์ฟิว ซึ่งควรมีสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70% ขอจำนวนประชากร เพื่อให้มั่นใจว่าหากเกิดการติดเชื้อหรือมีการแพร่กระจายเชื้อแล้วจะสามารถควบคุมโรคได้ รวมถึงลดอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงให้กับพี่น้องประชาชนได้ 3. มาตรการด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมในทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานประกอบการที่อนุญาตให้เปิดดำเนินการได้ หรือได้รับการขยายเวลาดำเนินการได้ ผู้เกี่ยวข้องต้องเข้าไปดูแลเรื่องความพร้อมในการเปิดให้บริการ รวมถึงเข้มงวดเรื่องการรวมตัวของผู้ใช้บริการ การสวมหน้ากากอนามัย เพื่อไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นซึ่งจำเป็นต้องนำมาตรการด้านกฎหมายมาใช้เพื่อมากำกับดูแลหากไม่ได้รับความร่วมมือ 4. มาตรการด้านกฎหมาย เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือละเมิดข้อบังคับ ในกรณีที่เปิดประเทศและยกเลิกเคอร์ฟิวในบางพื้นที มาตรการการควบคุมโรคภายในประเทศจึงจำเป็นที่จะต้องมีความเข้มข้น เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ ด้านนายปริญญ์ กล่าวถึงประเด็นหลักด้านเศรษฐกิจภายหลังการเปิดประเทศให้ 46 ประเทศสามารถเดินทางเข้ามาได้ว่า อยากให้พิจารณากฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ เมื่อเราต้องเปิดประเทศในยุคโควิด หากมีกฎเกณฑ์บางอย่างที่สามารถผ่อนผันได้ก็จะเป็นสิ่งดี พร้อมกับยกตัวอย่างถึงกรณีที่มีกองถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศเดินทางมาประเทศไทย ทุกคนในกองถ่ายได้รับการฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว และมีการทำบับเบิ้ลแอนด์ซีลในกองถ่ายอยู่แล้ว จึงอยากให้มีการอำนวยความสะดวกด้วยการบูรณาการจากภาครัฐซึ่งจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในการนำเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศได้ “นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการมาสนุก มาผ่อนคลาย ดังนั้นมาตรการใดที่สามารถอำนวยความสะดวกให้ได้ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ รวมถึงต้องมีการสื่อสารอย่างชัดเจนต่อนานาประเทศ เพราะยังมีอีกหลายประเทศที่สนใจเดินทางเข้ามานอกเหนือจาก 46 ประเทศที่เราอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว จึงอยากให้มีเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจน เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยวอีกเป็นจำนวนมากเดินทางมาที่บ้านเราเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายปริญญ์ กล่าว