“บิ๊กตู่” ลงนามเปิดประเทศวันนี้พร้อมลุ้นชาติไหนลุยเที่ยวในไทย เคาะแล้ว! ฉีดไฟเซอร์เข็ม 2 ในเด็กผู้ชายอายุ 12-16 ปี ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ส่วนโควิดไทยติดเชื้อรายใหม่ 9,727ราย ตายลดลงเหลือ73ราย ขณะที่ทั่วโลกติดเชื้อทะลุ 242 ล้านคน เมื่อวันที่ 21 ต.ค.64 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในการเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ตามแผนที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาและเห็นชอบกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของประเทศที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวให้เข้าประเทศไทยว่าจะเป็นประเทศใดบ้าง โดยจะรายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศบค.ลงนาม และประกาศภายในวันที่ 22 ต.ค.นี้ และให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยไม่ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่อีก เพื่อให้ผู้ประกอบการ ผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงนักท่องเที่ยว เตรียมความพร้อม โดยรายละเอียดดังกล่าวจะครอบคลุม แผนการเปิดกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติวันที่ 1 พ.ย.นี้ นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า หลังคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีมติให้สามารถฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 ในเด็กชายอายุ 12–16 ปี โดยเป็นไปตามความสมัครใจและความประสงค์ของผู้ปกครองและเด็กนักเรียน ทั่วโลกมีการฉีดให้เด็กแล้วกว่า 100 ล้านโดส ส่วนข้อกังวลเรื่องอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น ทางคณะอนุกรรมการฯ ชี้แจงว่า เกิดขึ้นได้น้อยมาก และรักษาหายได้เร็ว ด้าน ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงาน ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จำนวน 9,727 ราย จำแนกเป็น ติดเชื้อรายใหม่ 9,656 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 71 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสมจำนวน 1,792,716 ราย หายป่วยกลับบ้านได้10,075 ราย เสียชีวิต 73 ราย รวมยอดเสียชีวิตสะสม จำนวน 18,465 ราย สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า สำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ อนุมัติการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ขนานโมเดอร์นา และขนานจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน สำหรับการฉีดเป็นเข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันแก่ผู้เคยรับการฉีดวัคซีนขนานอื่นๆ มาแล้วจนครบโดสเอฟดีเอ ยังระบุด้วยว่า พลเมืองชาวสหรัฐฯ สามารถเลือกวัคซีนขนานที่แตกต่างจากเข็มปกติที่ฉีดไปแล้วได้ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน รายงานข่าแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ทางเอฟดีเอ ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนขนานไฟเซอร์ ฉีดเป็นเข็มที่ 3 แก่ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้น ที่รับการฉีดวัคซีนครบโดสไปแล้ว 6 เดือน เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันการติดเชื้อไวัสโควิด-19 ด้าน “มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์” ซึ่งมีนายบิล เกตส์ มหาเศรษฐี เจ้าของฉายา “ราชาไมโครซอฟท์” เป็นประธานร่วมกับนางเมลินดา อดีตภรรยาของเขา ได้บริจาคเงินจำนวน 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 4,008 ล้านบาท) ให้แก่บรรดาประเทศรายได้ต่ำ เพื่อใช้สำหรับซื้อยา “โมลนูพิราเวียร์” ยาเม็ดต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัทเมิร์ค แอนด์ โค ในสหรัฐฯ โดย นางเมลินดา ประธานร่วมของมูลนิธิฯ แถลงว่า มูลนิธิฯ ได้ให้คำมั่นว่าจะทำให้ผู้คนในหลายประเทศ สามารถเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์มากขึ้น อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวคงไม่จบสิ้นแต่เพียงเท่านี้ โดยทางมูลนิธิฯ ต้องให้ผู้บริจาครายอื่นๆ ทั้งที่เป็นองค์กรและรัฐบาล เข้ามาลงมือแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยาดังกล่าวด้วยเช่นกัน รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ (ฮู) เตรียมจัดทำโครงการที่จะช่วยให้บรรดาประเทศยากจนทั้งหลาย มีโอกาสเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์ ในราคาชุด หรือคอร์สละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 330 บาท) สำหรับการใช้ยากับผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการระดับปานกลาง ขณะที่ สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ในพื้นที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปรากฏว่า ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ล่าสุด มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 242,834,042 ราย ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวน 4,938,229 ราย และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 220,115,814 รายโดยสถานการณ์แพร่ระบาดในสหรัฐฯ ยังคงลุกลามรุนแรงอย่างหนักจนส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลกจำนวน 46,092,362 ราย และมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากที่สุดในโลกจำนวน 751,811 ราย ส่วนผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 35,814,326 ราย