“นิพนธ์” ล่องใต้ รุดหารือแผนป้องกันอุทกภัย จ.พัทลุง ย้ำทุกฝ่ายต้องมีแผนเผชิญเหตุ ทั้งระบบเตือนภัยแจ้งเหตุ และพร้อมช่วยชาวบ้าน ยึดหลัก “สร้างที่ให้น้ำอยู่ ทำทางให้น้ำไหล” พ่วงย้ำ ยุทธศาสตร์จังหวัด ลดการสูญเสียชีวิตบนท้องถนน ให้ อปท.เป็นเจ้าภาพลดยอดการเสียชีวิต สร้าง “ตำบลต้องขับขี่ปลอดภัย” เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 20 ต.ค.64 ที่ศาลากลางจังหวัดพัทลุง นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(รมช.มท.) เป็นประธานมอบนโยบายเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมถึงความปลอดภัยทางถนนจังหวัดพัทลุง มีนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมวางแผนป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูมรสุมในภาคใต้ ควมถึงแผนเผชิญเหตุอุทกภัยต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการเร่งขุดลอกท่อระบายน้ำ กำจัดขยะ และสวะสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลยึดหลักสร้างที่ให้น้ำอยู่ ทำทางให้น้ำไหล เพื่อรองรับน้ำและระบายน้ำได้มีประสิทธิภาพ รวมถึงแผนป้องกันพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล ศาสนสถาน โดยต้องตรวจสอบความพร้อมของวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลช่วยด้านสาธารณภัย เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือแจ้งเตือนภัย ให้พร้อมใชงานตลอดเวลา ที่สำคัญต้องกำหนดพื้นที่ปลอดภัย เส้นทางการอพยพ และศูนย์พักพิงชั่วคราว โดยต้องซักซ้อมเจ้าหน้าที่และประชาชนถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างการรับรู้ไม่ให้สับสนหากเกิดอุทกภัย ต้องเตือนให้ประชาชนรู้ข่าวในทุกช่องทาง เช่น สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ขอย้ำว่า ให้เจ้าหน้าที่อำเภอและเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)ในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องพร้อมป้องกัน ช่วยเหลือและแจ้งเตือนประชาชนทันสถานการณ์ทันทีที่สำคัญคือต้องช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยในชีวิต เป็นสำคัญ “ส่วนการลดอุบัติเหตุทางถนนตามแผนความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.จังหวัด)เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของจังหวัดและเป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัด ที่อำเภอและส่วนท้องถิ่นต้องร่วมมือป้องกันและแก้ไขโดยลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ให้ได้ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)เป็นเจ้าภาพหลักในการลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่  มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานวิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่รับผิดชอบ และเร่งปรับปรุงอก้ไขจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนควบคู่การขอความร่วมมือจากประชาชน และทุกภาคส่วนให้ร่วมขับเคลื่อนในการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นโดยยึดหลัก “สร้างตำบลต้องขับขี่ปลอดภัย” ทําให้ทุกตำบลในประเทศไทยปลอดภัย ประชาชนก็จะสามารถขับขี่ปลอดภัยสามารถลดความสูญเสียชีวิตเท่ากับเป็นการรักษาทรัพยากรบุคคลและทรัพย์สินอื่นๆได้” นายนิพนธ์ กล่าว