ล่าสุดโรงงานรองเท้าอยู่ใกล้หมิงตี้ที่ไฟไหม้ระเบิดครั้งใหญ่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ขณะพื้นที่บางพลีมีเกือบ 2 พันโรงงาน ส่วนใหญ่ตั้งก่อนมีผังเมือง ชุมชนตามมาทีหลัง นักวิชาการแนะรัฐต้องปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เข้ากับสภาพการณ์ คุมเมืองโตติดรง. นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 20 ต.ค.64 ถึงกรณีไฟไหม้โรงงานย่านสมุทรปราการว่า "โรงงานกิ่งแก้วอายุมากกว่า 30 ปี กับชุมชนที่พักอาศัยใกล้เคียง..มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสูง.. โรงงานในเขตบางพลี จ.สมุทรปราการ มีจำนวน 1,934 แห่ง เป็นขนาดกลาง 185 แห่ง และขนาดใหญ่ 44 แห่ง สำหรับโรงงานผลิตรองเท้า บริษัท วัฒนาฟุตแวร์ จำกัด ถือเป็นโรงงานขนาดกลางตั้งอยู่ที่ ถ.บางพลี-กิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ (ตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานบริษัทหมิงตี้ที่ผลิตพลาสติกที่เกิดระเบิดไฟไหม้เมื่อเดือนก.ค.64) มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 45 ล้านบาท เปิดดำเนินการเมื่อปี 2531 ก่อนมีผังเมืองรวมของจังหวัดสมุทรปราการ ผลิตรองเท้าชื่อดังหลายยี่ห้อ เช่น stuttgart Buddy click camel เป็นต้น โดยมีโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลางตั้งอยู่ใกล้เคียงอีกประมาณ 20 กว่าแห่ง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตพลาสติก, อาหาร,อุปกรณ์รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์, ยางสังเคราะห์, โลหะและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ถือเป็นกลุ่มโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟไหม้และสารเคมีรั่วไหล เป็นโรงงานที่มาบุกเบิกตั้งแต่ยังไม่มีผังเมือง ต่อมาในปี 2544 มีการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งมีผังเป็นสีน้ำเงินและกำหนดให้พื้นที่รอบๆ เป็นผังเมืองสีแดง คือเป็นพื้นที่สำหรับทำสำนักงาน, อาคารพาณิชย์, คลังสินค้าบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ล้อมรอบพื้นที่โรงงานบนถนนกิ่งแก้ว และในปี 2550 ได้มีหมู่บ้านต่างๆ เกิดขึ้นใกล้เคียงรอบๆ โรงงานที่ตั้งมาก่อน ดังเช่น ทำเลกิ่งแก้วและถนนบางนา -ตราดใกล้เคียง เช่นโครงการเดอะเบสท์ กิ่งแก้ว-สุวรรณภูมิ 38 ยูนิต, โครงการThe stories บางนา-สุวรรณภูมิ 1879 ยูนิต, โครงการเซนโทร บางนา-กิ่งแก้ว 294 ยูนิต, โครงการเซนส์บางนา-สุวรรณภูมิ 160 ยูนิต, โครงการศุภาลัยเออร์บานา บางนา-วง แหวน 73 ยูนิต เป็นต้น ทำให้ชุมชนขยายเข้ามาใกล้กับโรงงาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ สารเคมีรั่วไหลซึ่งมีโอกาสสูงเพราะส่วนใหญ่เป็นโรงงานเก่าอายุมากกว่า 30 ปีแล้ว หากเกิด ชุมชนจะได้ผลกระทบค่อนข้างมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงควรพิจารณาให้มีการปรับปรุงประโยชน์การใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับยุคสมัย รวมทั้งต้องควบคุมการเจริญเติบโตของเมืองป้องกันการขยายชุมชนที่อยู่อาศัยไปติดกับโรงงานอุตสาหกรรม ภาพจากเพจ sonthi kotchawat