ภารกิจเสินโจว 13 ทะยานถึงสถานีอวกาศแห่งใหม่เทียนกงด้วยความราบรื่น โดยจะเป็นภารกิจที่จะทำลายสถิติเสินโจว 12 ด้วยการอยู่นานถึง 6 เดือน ทั้งยังมีนักบินอวกาศหญิงคนแรกร่วมทริปไปด้วย โดยนักบินอวกาศทั้ง 3 มีภารกิจสำคัญทดลองวิทยาศาสตร์หลากหลายด้านบนนั้น ขณะจีนเตรียมแผนภารกิจที่ 14 และ 15 แล้ว เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม! ภารกิจเสินโจว 13 พร้อมนักบินอวกาศมุ่งหน้าถึงสถานีอวกาศแห่งใหม่ของจีนแล้ว ภารกิจอวกาศครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่มีนักบินอวกาศเดินทางเพื่อไปปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศแห่งใหม่ของจีน และความพิเศษในครั้งนี้คือมี “หวาง ย่าผิง” นักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีนเดินทางไปด้วย ยานบรรทุกนักบินอวกาศเสินโจว 13 (Shenzhou 13) ทะยานขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดลองมาร์ช 2F จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนในทะเลทรายโกบี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2564 เวลา 23:23 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ก่อนที่ยานจะเข้าเทียบท่ากับสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) ในอีกประมาณ 8 ชั่วโมงต่อมา ภารกิจเสินโจว 13 มีนักบินอวกาศชาวจีน 3 คน ประกอบด้วย ไจ๋ จื้อกาง (Zhai Zhigang) ในฐานะนักบินผู้บัญชาการภารกิจ หวาง ย่าผิง (Wang Yaping) และ เย่ กวางฟู่ (Ye Guangfu) มุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศเทียนกง สถานีอวกาศของประเทศจีนในบริเวณวงโคจรระดับต่ำรอบโลก เมื่อยานถึงอวกาศแล้ว ไจ๋ จื้อกาง รายงานว่าภารกิจเป็นไปอย่างราบรื่น ประเทศจีนส่งโมดูลเทียนเหอ (Tianhe) ส่วนประกอบแรกของสถานีอวกาศเทียนกงขึ้นสู่อวกาศในเดือนเมษายน พ.ศ.2564 โดยมีแผนจะส่งส่วนประกอบหรือโมดูลอื่นๆ ไปเชื่อมต่อเพื่อขยายสถานีอวกาศในภายหลัง และสถานีอวกาศเทียนกงเคยมีกลุ่มนักบินอวกาศในภารกิจเสินโจว 12 มาปฏิบัติงานในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน พ.ศ.2564 เป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน นับเป็นภารกิจอวกาศยาวนานที่สุดของจีนและล่าสุด ภารกิจเสินโจว 13 จะทำลายสถิติด้วยระยะเวลาภารกิจนานถึง 6 เดือน นอกจากสถิติ “ภารกิจนักบินอวกาศที่ยาวนานที่สุดของจีน” แล้ว ภารกิจเสินโจว 13 ยังสร้างสถิติอย่างอื่นในด้านอวกาศของจีน โดยหวาง ย่าผิงได้เป็น “นักบินอวกาศหญิงชาวจีนคนแรกที่ปฏิบัติงานและอยู่อาศัยในสถานีอวกาศ” ซึ่งภารกิจเสินโจว 12 ก่อนหน้านี้ นักบินอวกาศทั้งหมดในภารกิจเป็นผู้ชาย อย่างไรก็ดี ภารกิจเสินโจว 13 ไม่ใช่ภารกิจอวกาศครั้งแรกของนักบินอวกาศหญิงชาวจีนอายุ 41 ปีคนนี้ หวาง ย่าผิง เคยปฏิบัติงานในภารกิจเสินโจว 10 ซึ่งยานบรรทุกนักบินอวกาศเทียบท่ากับสถานีอวกาศเทียนกง 1 (Tiangong 1) ห้องทดลองในอวกาศรุ่นบุกเบิกของจีนก่อนสถานีอวกาศเทียนกงนาน 2 สัปดาห์ในปี พ.ศ.2556 ขณะที่นักบินอวกาศคนอื่นในภารกิจเสินโจว 13 อย่าง ไจ๋ จื้อกาง ในวัย 55 ปี เคยปฏิบัติงานในเที่ยวบินอวกาศนาน 3 วันกับภารกิจเสินโจว 7 เมื่อปี พ.ศ.2551 และเป็นนักบินอวกาศชาวจีนคนแรกที่เดินในอวกาศ (Spacewalk) ส่วน เย่ กวางฟู่ในวัย 41 ปี ภารกิจเสินโจว 13 เป็นเที่ยวบินอวกาศครั้งแรกของเขา ในช่วงที่นักบินอวกาศชาวจีนทั้งสามคนปฏิบัติงานและอยู่อาศัยในวงโคจรรอบโลกนาน 6 เดือนนี้ พวกเขาจะทดสอบและตรวจสอบเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการประกอบสถานีอวกาศ ซึ่งสถานีอวกาศเทียนกงจะมีส่วนประกอบหลัก (โมดูล) ทั้งหมด 3 ส่วน มีเทียนเหอเป็นโมดูลหลัก โดยอีก 2 โมดูลจะส่งขึ้นมาเชื่อมต่อประกอบเข้ากับโมดูลเทียนเหอในปีหน้า หนึ่งในการทดสอบสำคัญ คือ การย้ายตำแหน่งยานบรรทุกสัมภาระเทียนโจว 2 ซึ่งมาถึงสถานีอวกาศเทียนกงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ.2021 เพื่อส่งสัมภาระให้แก่กลุ่มนักบินอวกาศในภารกิจก่อนหน้า (เสินโจว 12) โดยการย้ายนั้นจะใช้แขนกลของโมดูลเทียนเหอดึงยานเทียนโจวที่เทียบท่าในตำแหน่งหนึ่ง มาเชื่อมต่อกับสถานีอีกครั้งในตำแหน่งใหม่ นอกจากการทดสอบเทคโนโลยีเพื่อการประกอบสถานีอวกาศแล้ว นักบินอวกาศทั้งสามยังต้องทดลองทางวิทยาศาสตร์อีกหลายอย่าง เช่น การทดลองด้านการแพทย์ในอวกาศ และการศึกษาทางฟิสิกส์ในสภาวะความโน้มถ่วงต่ำ ส่วนนักวิจัยบนภาคพื้นดินจะวิเคราะห์ข้อมูลทางสุขภาพของนักบินทั้งสามระหว่างที่อยู่ในอวกาศ เพื่อศึกษาผลกระทบของการดำรงชีพในอวกาศระยะยาวต่อสภาวะสุขภาพกายและจิตใจของมนุษย์ ในการประกอบสถานีอวกาศเทียนกง ต้องปล่อยจรวดถึง 11 ครั้ง (รวมถึงภารกิจเสินโจว 12 เสินโจว 13 และยานเทียนโจว 2) สถานีอวกาศเทียนกงจึงจะประกอบครบสมบูรณ์ ซึ่งมวลรวมทั้งสิ้นคิดเป็น 20% ของสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และหลังจากภารกิจเสินโจว 13 สิ้นสุดลง จีนได้วางกำหนดการภารกิจถัดไป ประกอบด้วย ภารกิจส่งนักบินอวกาศขึ้นมาอีก 2 ครั้ง (เสินโจว 14 และเสินโจว 15) ส่งยานเทียนโจวพร้อมสัมภาระมายังสถานีอีก 2 ครั้ง และการส่งโมดูลอื่นมาประกอบกับสถานีอวกาศเทียนกง (โมดูลเมิ่งเทียน และโมดูลเวิ่นเทียน) เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : https://www.space.com/china-launches-shenzhou-13..."