เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ห้วงอวกาศแสนกว้างใหญ่ อะไรก็เกิดขึ้นได้ รวมถึงการชนกันของ #สองกาแล็กซี ที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้บันทึกเอาไว้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเผยภาพปฏิสัมพันธ์กันของกาแล็กซีสองแห่งที่เกิดขึ้นมานานกว่า 100 ล้านปีแล้ว กาแล็กซีด้านล่างมีชื่อว่า NGC 5953 ส่วนกาแล็กซีด้านบนมีชื่อว่า NGC 5954 และเรียกรวมๆ ว่า “Arp 91” ความจริงแล้วกาแล็กซีทั้งสองนั้นเป็นกาแล็กซีประเภทกังหัน (spiral galaxies) แต่ด้วยมุมมองของระนาบที่แตกต่างกันจึงทำให้กาแล็กซีทั้งสองดูมีรูปร่างที่แตกต่างกัน จากภาพจะเห็นว่ากาแล็กซี NGC 5953 กำลังดึงดูดแขนเกลียวของ NGC 5954 สาเหตุคืออันตรกิริยาของแรงโน้มถ่วงที่ทำให้กาแล็กซีมีแรงดึงดูดมหาศาล อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญสำหรับวิวัฒนาการของกาแล็กซีอีกด้วย นักดาราศาสตร์เชื่อว่าการรวมตัวกันของกาแล็กซีทั้งสองในอนาคต อาจนำไปสู่การก่อตัวของกาแล็กซีประเภทอื่น เช่น กาแล็กซีรี (elliptical galaxies) อย่างไรก็ตาม การรวมกันของกาแล็กซีก็ใช้เวลายาวนานกว่าหลายร้อยล้านปี ซึ่งจะไม่สามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ในช่วงชีวิตของมนุษย์ เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://www.nasa.gov/.../hubble-detects-a-dangerous-dance