ภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย รูปแบบธุรกิจแบบดั้งเดิมอาจไม่สามารถตามทันกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่แต่ละประเทศ มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางกลับมาเช่นเดิม ซึ่งในเรื่องนี้ นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้สะท้อนแผนการดำเนินงานขององค์กร เพื่อให้เป็น Smart National Tourism Organization (Smart NTO.) ที่มีประสิทธิภาพให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยว และพฤติกรรมของผู้บริโภค ได้อย่างน่าสนใจ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสาร นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ทางททท.ได้ใช้โซเชียลมีเดียอย่างเข้มข้นในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผู้คนไม่สามารถเดินทางได้ โดยเฉพาะชุมชนต่างๆ ที่ยังมีผลิตภัณฑ์ต้องการเสนอขายไปยังผู้บริโภค จึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารแบบเก่า ไปสู่การสื่อสารผ่านออนไลน์ รวมทั้งการใช้โลจิสติกส์เพื่อการขนส่ง โดยมีการผสมผสานทั้ง 2 อย่างเข้าด้วยกัน ในขณะเดียวกันได้นำกลุ่มบล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ถ่ายทอดโนฮาวให้กัน และกัน กับชุมนำชน พร้อมกับนำอัตลักษณ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต สื่อสารผ่านออนไลน์ต่างๆ เพื่อเผยแพร่ศักยภาพของชุมชนให้ผู้คนได้รับรู้ สร้างความเข้มแข็ง เตรียมพร้อมรับการเดินทางที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งหลังโควิด-19 คลี่คลาย หรือถ้าโรคร้ายกลับมาอีกรอบ ทางชุมชนก็จะได้รับผลกระทบลดน้อยลง ซึ่ง การสื่อสาร ในช่วงโควิด-19 ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า จะต้องเป็นไปในรูปแบบ Single Message คือ ต้องใช้ข้อความชุดเดียวกันในการแจ้งข้อมูล เพื่อลดความสับสน เช่นเดียวกับการทำงานในชุมชน จะต้องพูดไปในทำนองเดียวกัน เพื่อให้คนเข้าใจชุมชนดีขึ้น โดยจะประกอบด้วย 1.คอนเทนท์ 2.ช่องทางในการสื่อสาร 3.กลยุทธ์ในการสื่อสาร เพื่อจะทำให้การสื่อสารมีพลังมากขึ้น วิเคราะห์ความต้องการผ่านดาต้า ทั้งนี้ นายนิธี กล่าวต่อว่า การทำตลาดในปัจจุบัน ต้องอาศัยดาต้า ที่เป็นข้อมูลต่างๆ ดังนั้นการเข้ามารับผิดชอบด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา ของ ททท.จึงเป็นหน้าที่โดยตรงในการนำข้อมูล และตัวเลขต่างๆเหล่านั้นมาวิเคราะห์ ความต้องการของตลาดของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่จะมาเที่ยวเมืองไทย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าเมื่อสถานการณ์ของโรคระบาดเบาบางลง ด้วยการวิเคราะห์ ทั้งในเรื่องดีมานต์ และซัพพลาย โดยเฉพาะเวลานี้จะมองในเรื่องของดีมานต์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมององค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น มาตรการของแต่ละประเทศ เกี่ยวกับนโยบายให้เดินทาง รวมถึงเวลาในการกักตัว ด้วยปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยวแต่ละประเทศมีการพิจารณารอบด้านมากขึ้น ดังนั้นข้อมูลพื้นฐานที่เก็บรวบรวมไว้ ทั้งในเรื่องพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน จึงเป็นข้อมูลที่ทางฝ่ายดิจิทัล วิจัย และพัฒนา จะต้องเก็บรวบรวมไว้ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการทำตลาดต่อไป ทั้งนี้อาจจะแยกย่อยออกไปเป็นหลายแนวทาง หลายระดับ เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของผู้บริภาพทั้งระยะสั้น และระยะยาว สำหรับพฤติกรรมการเดินทางในระยะสั้นในช่วงเวลานี้ จะมีนักท่องเที่ยวอเมริกา ยุโรป ที่เดินทางมาเมืองไทย ผ่านทางจังหวัดที่อยู่ในโครงการแซนด์บ็อกซ์ต่างๆ แต่ประเทศในแถบเอเชียยยังเดินทางกันน้อย ด้วยมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจจะด้วยนโยบายของแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลง รวมทั้งมาตรการเมืองไทยยังไม่แน่นอนมีการปรับไปตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม นายนิธี กล่าวว่า การเข้ามารับผิดชอบด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา จึงจำเป็นต้องมอนิเตอร์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง ส่วนความไม่แน่นอน ก็จะต้องยืดหยุ่นในเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องของแผนการทำตลาด ทำการประชาสัมพันธ์ แผนในการวางคอนเทนท์ที่ชัดเจน ถ้าเจอสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนก็จะต้องมีหลายคอนเทนต์ เพื่อนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จัดระดับความสำคัญก่อนหลัง เพื่อรองรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที อย่างเช่นตลาดในประเทศในช่วงนี้ สถานการณ์โควิดยังมาแรง ก็จะเป็นการประชาสัมพันธ์ในเรื่อง การท่องเที่ยวแบบปลอดภัย หรือบอกพื้นที่ที่ท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยใกล้บ้าน เป็นต้น ส่วน ตลาดต่างประเทศ มีการดำเนินงานกับสื่อระดับโลกต่างๆ อย่าง ซีเอ็นเอ็น บีบีซี รอยเตอร์ ยูโรนิวส์ ชาแนลนิวส์เอเชีย หรือแม้กระทั่งดิสคอฟเวอรี่ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเชื่อถือได้ในเรื่องของความสะอาด ความปลอดภัย จากโรคระบาดที่เกิดขึ้น โดยมีโครงการแซนด็บ็อกส์ต่างๆ เกิดขึ้น สร้าง เดสติเนชั่นมาร์เก็ตติ้ง หรือซิตี้ มาร์เก็ตติ้ง เป็นการตลาดเชิงพื้นที่ เป็นการแสดงให้เห็นถึงภารวมของประเทศไทย โดยมี ภูเก็ต และสมุย เมืองท่องเที่ยวหลักเป็นจังหวัดนำร่อง ด้วยการพิจารณาสัดส่วน หรือจำนวนของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ที่เคยทำรายได้ให้กับอุตวาหกรรมท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากๆ เป็นการเริ่มจากเมืองหลัก แล้วค่อยขยายตัวไปเมืองรอง นำดาต้าติดอาวุธให้กับฝ่ายการตลาด สุดท้าย นายนิธี ได้กล่าวถึงความรับผิดชอบด้าน ดิจิทัล วิจัย และพัฒนา กับการทำงานในองค์กรของททท. ว่า ต้องเริ่มจากการเป็นหน่วยงานสนับสนุนเตรียมความพร้อมของดาต้าต่างๆ เพื่อติดอาวุธให้กับฝ่ายการตลาด ด้วยระบบที่ดีมีเครื่องมือที่ดี โดยภายใน 1-2 ปีข้างหน้า ททท.จะต้องเป็น องค์กรอัจฉริยะ หรือ (SMART Organization) ประกอบด้วย Digital vision คือ S : Solution creation สร้างสรรค์ทางออก ที่หลากหลาย M : Marketable support สนองเป้าหมายทางการตลาด A : Agility ลดความซับซ้อน ขั้นตอนที่อืดอาด R : Responsive reaction ตอบสนองได้ทันที ไม่มีผิดพลาด T : Transform มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นในเบื้องต้น จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนในองค์กร ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายการตลาดที่จะต้องใช้ข้อมูล ใช้เทคโนโลยี ในการทำงานมากขึ้น ส่วนฝ่ายวิจัย และพัฒนา จะต้องนำระบบไอที ข้อมูล เพื่อนำสร้างเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับฝ่ายการตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ