วันนี้ (28 ธ.ค.60) ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามรับทราบปัญหาดินเค็ม โดยมีนายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ดินเค็ม บ้านนาดี ต.พังงู อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จ.อุดรธานี มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 7.33 ล้านไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ดอน มีเนื้อที่ประมาณ 4.2ล้านไร่ หรือร้อยละ 61.77 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด ปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และไม้ยืนต้น อาทิ ยางพารา ยูคาลิปตัส ส่วนพื้นลุ่มส่วนใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 1.5 ล้านไร่ หรือร้อยละ 22.26 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด ใช้ทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก และพื้นที่ที่มีความลาดชันมากยากต่อการทำการเกษตร มีเนื้อที่ประมาณ 6.7 แสนไร่หรือร้อยละ 9.84 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด อีกทั้งยังขาดแคลนแหล่งน้ำจืดในการทำการเกษตรเป็นอย่างมาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับดินเค็มใน จ.อุดรธานี มีประมาณ 1.7 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นบริเวณที่พบคราบเกลือบนดินมากกว่า 50% มีพื้นที่ 4,623 ไร่ บริเวณที่พบคราบเกลือบนผิวดิน 10-50% มีพื้นที่ 10,463 ไร่ และบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากเกลือน้อยกว่า 1% มีพื้นที่ 281,441 ไร่ จากปัญหาดังกล่าว สถานีพัฒนาที่ดินอุดรธานี จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย ต.พังงู อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2560 รวมพื้นที่ 4,000 ไร่ แบ่งเป็น 2 กิจกรรม คือ1.กิจกรรมการควบคุมระดับน้ำใต้ดินเค็มและใต้ผิวดิน และ 2.กิจกรรมจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ และปลูกไม้ยืนต้นเศรษฐกิจบนคันนา เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการฟื้นฟูแก้ไขปัญหาดินเค็มใน จ.อุดรธานี วัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็มและป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม รวมทั้งเพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ดินเค็มให้มีศักยภาพ สามารถปลูกพืชเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม เพิ่มผลผลิตพืชเพื่อการบริโภคและผลิตเป็นพืชเศรษฐกิจ "นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาและดำเนินงานวิจัยในพื้นที่โครงการ โดยนำอินทรียวัตถุ เช่น แกลบ และขี้อ้อย มาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวก่อนการปลูกข้าว และสุ่มเก็บดินเพื่อนำมาวิเคราะห์หาธาตุอาหาร พบว่า หลังจากมีการดำเนินการปรับปรุงบำรุงดินโดยการใช้อินทรียวัตถุ และการปรับปรุงรูปแปลงนา ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวสามารถปลูกข้าวได้ และผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 30% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากมีการดำเนินการปรับปรุงดินอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้"ดร.วิวัฒน์ กล่าว