“ปีระกา” เก่า (พ.ศ.2560) ใกล้ผ่านพ้นไป “ปีจอ” ใหม่ (พ.ศ.2561) ก็คืบคลานเขยิบเข้ามา ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ก็ได้รับการขนานนามให้เป็นปีแห่งความวุ่นวายอีกปีหนึ่ง ซึ่งได้ท้าทายสถานภาพ “ภาวะผู้นำ” ของหลายๆ ประเทศว่า จะเป็นผู้นำที่ทรงความสามารถการบริหารปกครอง ตลอดจนการแก้ไขวิกฤติปัญหานั้นอย่างไร? และก็ต้องบอกว่า มีคละเคล้ากันไปในหมู่ผู้นำ ส่งผลให้มีทั้ง “รุ่ง” และ “ร่วง” ตามทรรศนะของบรรดานักวิเคราะห์ ตลอดจนผู้สันทัดกรณีทั้งหลาย เริ่มจาก “มหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลก” ณ ชั่วโมงนี้ พ.ศ.นี้ ที่แม้จะโรยราไปบ้างตามหลักอนิจจังอย่าง “สหรัฐอเมริกา” พญาอินทรี นั่นคือ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ผู้นำจอมสร้างสีสันแห่งยุค ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า สถานการณ์ของเขานั้น ทั้งรุ่ง ทั้งร่วง คละเคล้ากันไป แต่โดยส่วนใหญ่ จะร่วงกันเสียมากกว่า แบบสำนวนไทยที่ว่า “สามวันดี สี่วันไข้” ไล่จากช่วงต้นปี เดือนมกราคม ที่เรืองรุ่งพุ่งสู่เก้าอี้ประธานาธิบดีในทำเนียบขาว หลังสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเต็มภาคภูมิ ทว่า นั่งเก้าอี้ก้นยังไม่ทันร้อน ไม่ถึงสัปดาห์ดีด้วยซ้ำ ก็ระส่ำกับผลงานชิ้นโบว์ดำ ด้วยการลงนามใน “คำสั่งพิเศษ” ห้ามพลเมืองจาก 7 ชาติมุสลิมเข้าประเทศชั่วคราว ก็เลยโดนกระหน่ำจากกลุ่มประชาชีทั้งในและนอกสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศมุสลิมแบบจะทั่วทุกมุมโลก แม้กระทั่งศาลยุติธรรมในสหรัฐฯ เอง หลายรัฐ ก็สั่งระงับคำสั่งข้างต้น เพราะไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีทรัมป์ ตามมาด้วยแผนรื้อ “โอบามาแคร์” ก็ปรากฏว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ล้มเหลวอีก ต่อด้วยการประกาศรับรอง “เยรูซาเล็ม” เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล เพื่อหวังกรุยทางสู่การย้ายสถานเอกอัครราชทูตของสหรัฐฯ จาก “เทลอาวีฟ” มายังนครเจ้าปัญหาแห่งนี้ จนถูกโลกตำหนิประณามกันเสียงขรม ไม่เว้นแม้กระทั่งมติของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ที่ปฏิเสธคำประกาศรับรองข้างต้น จนกลายเป็นโมฆะ และไม่มีผลทางกฎหมายไป อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังมีตีตื้นได้บ้างจากชัยชนะในแผนปฏิรูประบบภาษีครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี หรือ 3 ทศวรรษ แต่ทว่า ก็สร้างความกังขาว่า แผนปฏิรูประบบภาษีข้างต้น จะเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มใดแน่ระหว่างนายทุนพรรครีพับลิกัน หรือว่าประชาชนคนส่วนใหญ่ ถัดมาเป็นรายของ “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีนแผ่นดินใหญ่” มหาอำนาจเบอร์สองของโลก โดยเป็นรองเพียงสหรัฐฯ แต่ก็พร้อมขึ้นแท่นบัลลังก์แทน ซึ่งหลายคนเชื่อว่า น่าจะบังเกิดขึ้นในอนาคตอันไม่ไกลนี้ โดยประธานาธิบดีสีรายนี้ บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า เป็น “ดาวรุ่ง” ทั้งในและนอกแดนมังกร จากผลงานการบริหารปกครองประเทศที่มีขนาดยักษ์ใหญ่ พร้อมด้วยประชากรจำนวนมหาศาลมากที่สุดในโลกนับพันล้านคน ซึ่งในต่างประเทศนั้น ก็โด่งดังด้วยนโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งถนน เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ขณะที่ ในประเทศก็ผงาดด้วยอุดมการณ์แนวคิด จนพรรคคอมมิวนิสต์ยกขึ้นเทียบชั้นประธาน “เหมา เจ๋อตุง” ในการประชุมใหญ่ของพรรคครั้งล่าสุดเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รายต่อมาก็เป็นคิวของ “ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย แดนหมีขาว” หนึ่งในชาติคู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯ ถูกยกให้ผู้นำสาย “รุ่ง” ที่ยังคงแข็งแกร่งแบบผู้นำตัวจริงเสียงจริงในรัสเซีย ชนิดไร้เทียมทาน ที่นักการเมืองคนใดในรัสเซียจะหาญมาเทียบเทียม เช่นเดียวกับการต่างประเทศ ที่ปรากฏว่า นำพารัสเซีย ผงาดรุกคืบขยายอิทธิพลไปในหลายภูมิภาค ไล่ไปตั้ง “ยุโรปตะวันออก” ที่ขยายอิทธิพลเข้ามาในยูเครน จากบรรดาชาติยุโรปตะวันตกต้องหวาดผวา รวมถึงที่ภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็สามารถทำให้รัสเซีย ทรงอิทธิพลในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน “ซีเรีย” จากการให้ความสนับสนุนต่อประธานาธิบดีบาร์ชา อัล-อัสซาด จนน่าจะเป็นผู้นำเพียงหนึ่งเดียวที่รอดจากปากเหยี่ยวปากกาของยุค “อาหรับสปริง” มาได้ ไม่นับการไล่ถล่มโจมตีทางอากาศ และสนับสนุนแนวรบภาคพื้นดิน จนกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ในซีเรีย แทบจะล่มสลายกันไปเลย ทางด้าน นายกรัฐมนตรีหญิง “อังเกลา แมร์เคิล” ผู้นำที่บรรดานักวิเคราะห์ เคยยกย่องให้ว่า “ราชินีแห่งยุโรป” มาปีนี้ ปรากฏว่า ถูกพิษภัยทั้งวิกฤติผู้อพยพ ปัญหาเศรษฐกิจ และการหวนกลับมาผงาดของกลุ่มชาตินิยมขวาจัด ก็ส่งผลให้ “พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน” หรือ “ซีดียู” ที่เธอเป็น “ประธานพรรคฯ อยู่นั้น ได้ที่นั่ง ส.ส.ลดลง กระทั่งมีผลต่อการเจรจาตั้งคณะรัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศ ในฐานะนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 ของ “ราชินีแห่งยุโรป” ที่ถึง ณ วินาทีนี้ก็ยังไม่สามารถผ่าทางตัน หาทางออกกันได้ ต่อด้วย “นายกรัฐมนตรีหญิง” กันอีกราย เป็นคิวของ ผู้ที่ทำท่าว่าจะเป็น “นางสิงห์เหล็กคนใหม่” แต่ทำไปทำมาก็จะกลับกลายว่า เป็น “นางสิงห์เดี้ยง” กันเข้าให้เสียแล้ว สำหรับ “นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งอังกฤษ” เพราะนอกจากปัญหาเรื่องภัยก่อการร้ายคุกคามจนทำเอาเสียง ส.ส.ของพรรคอนุรักษ์นิยมหายหดแล้ว ก็ยังมีเรื่องอื้อฉาวในหมู่คณะรัฐมนตรีมากวนใจ จนมีต้องกระเด็นตกเก้าอี้ คือ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปถึง 3 รายซ้อน ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบเสถียรภาพของรัฐบาล ในขณะการเจรจาต่อรองเรื่องที่อังกฤษจะพ้นจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป หรือเบรกซิต ก็อยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน ปิดท้ายด้วย ผู้นำดาวร่วง ที่บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า เป็น “ดาวร่วงอย่างชนิดล่วงลับ” กันโดยแท้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าได้รับการหมายมั่นปั้นมือว่า จะเป็นผู้นำดาวรุ่งอย่างโดดเด่น นั่นคือ “นางออง ซาน ซูจี” ผู้นำโดยพฤตินัยแห่งเมียนมา แดนหม่อง ในฐานะ “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” ซึ่งเธอเคยกล่าวว่า เป็นคนคุมประธานาธิบดีของเมียนมาอีกที แต่ปรากฏว่า ถึง ณ วินาทีเธอยังอยากเป็นผู้นำ และโลดแล่นบนถนนการเมืองในเมียนมาอยู่อีกหรือไม่ ก็ยังน่าคิด เมื่อเผชิญกับวิกฤติปัญหาโรฮีนจา ที่เมื่อว่าถึงวิกฤติปัญหานี้ ต้องบอกว่า ยากเสียยิ่งกว่ายากที่จะแก้ไขวิกฤตินี้ได้ ท่ามกลางความเกลียดชังที่มีต่อกันจากหน้าประวัติศาสตร์อันขมขื่นครั้งอดีต ไม่นับเรื่องศาสนาที่แตกต่างกัน โดยวิกฤติปัญหานี้ ก็ถึงทำให้มหาวิทยาลัยบางแห่งในตะวันตกที่เคยยกย่องเชิดชูเกียรติเธอ ต้องปลดออกกันเป็นแถว รวมถึงการส่งเสียงเรียกร้องที่จะเรียกคืนรางวัลระดับโลกอย่าง “โนเบล สาขาสันติภาพ” แถมดีไม่ดีอาจมีถึงขั้นฟ้องร้องในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตีตราให้เธอเป็นหนึ่งในอาชญากรฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เข้าให้ด้วยอีกต่างหาก ซึ่งก็ต้องบอกว่า เป็นปีที่ช้ำทรวงของสตรีที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่า “สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยในเมียนมา” บ้าง หรือ “เนลสัน แมนเดลาแห่งเมียนมา” ใช่แต่เท่านั้น เสียงครหาตำหนิวิจารณ์ข้างต้นที่มีต่อเธอ ก็เชื่อว่า ยังคงลากยาวต่อเนื่องไปอีกตราบนานเท่านานเลยทีเดียว