เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.60 นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและพบปะเกษตรกรในจังหวัดสุโขทัย โดยมีนายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายภานุวัฒน์ ณ นครพนม ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบสนับสนุนการสหกรณ์ และนางอาทิตยา สนประเทศ สหกรณ์จังหวัดสุโขทัย ให้การต้อนรับ โดยจุดแรก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต.ไกรนอก อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบของจังหวัดสุโขทัย มีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน อย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความหลากหลายในการทำการเกษตร โดยมีหลักสูตรเรียนรู้ ในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต ด้านการสหกรณ์ ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ นอกจากนี้ยังมีฐานการเรียนรู้ ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และการใช้สารชีวภาพป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช การเพาะพันธุ์ปลาหมอชุมพร เพื่อจำหน่าย การเพาะพันธุ์ลูกนกกระทาจำหน่าย และการนำหลักการรวมกลุ่มโดยใช้วิธีการสหกรณ์ ซึ่งในจังหวัดสุโขทัยมี ศพก. 9 แห่ง เป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรและบริหารจัดการไปสู่เกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน จุดที่ 2 โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (หาดสะพานจันทร์) ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ซึ่งประตูระบายน้ำแม่น้ำยมบ้านหาดสะพานจันทร์เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเป็นระบบ และเชื่องโยงพื้นที่เกษตรให้ทั่วถึง โดยในฤดูแล้งมีการกักเก็บน้ำในลำน้ำยม สำหรับการอุปโภค-บริโภค การประปา ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในเขตจังหวัดสุโขทัย และช่วยระบายน้ำใน ช่วงฤดูน้ำหลาก จุดที่ 3 พบปะเกษตรกร ณ ฟาร์มเลี้ยงโคขุน ต.คลองกระจง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงโคขุนที่ได้รับการพัฒนายกระดับเป็นฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีการดำเนินโครงการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเกษตรในพื้นที่นิคมสหกรณ์ (Agri - Map) สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร จุดที่ 4 ตรวจเยี่ยมการดำเนินการของกลุ่มแปลงใหญ่เมล็ดพันธุ์ข้าวพระร่วง-ดงไทย ณ อาคารอเนกประสงค์นิคมสหกรณ์พระร่วง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุโขทัย ต.นาทุ่ง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย มีสมาชิก 30 ราย พื้นที่ 561 ไร่ พันธุ์ข้าวที่ผลิต ได้แก่ กข 71 กข 29 กข 49 และ กข 61 โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้เข้ามาผลักดันให้เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้มีตลาดรองรับที่แน่นอน ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไป