กรมชลประทานวางแผนขยายผล การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำโครงการบางระกำโมเดล 60 หลังประสบความสำเร็จในช่วงฤดูน้ำหลากที่ผ่านมา วันที่ 25 ธ.ค.60 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หลังจากประสบความสำเร็จจากโครงการบางระกำโมเดล 60 ในช่วงฤดูน้ำหลากที่ผ่านมา โดยการปรับเปลี่ยนเวลาเพาะปลูกข้าวนาปี ในเขตชลประทาน(พื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำยม) ซึ่งกรมชลประทาน เริ่มส่งน้ำให้เกษตรกรได้ทำนาปีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนฤดูน้ำหลากเดือนสิงหาคม จากพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 265,000 ไร่ ซึ่งเกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกทั้งสิ้น 258,400 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 97.50 ของพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เต็มพื้นที่ทั้งหมด ในเดือนกรกฎาคม 2560 ก่อนจะเริ่มใช้พี้นที่นาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากและชะลอการระบายน้ำไว้ในทุ่ง ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2560 ได้ประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. ช่วยลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้เป็นอย่างมาก และยังช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเขตชุมชน และสถานที่ราชการในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดงบประมาณภาครัฐ ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในการจ่ายค่าชดเชย ที่สำคัญประชาชนยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพประมง และพื้นที่ดังกล่าวกรมชลประทานได้ระบายน้ำออก และเก็บกักไว้ประมาณ 100 ล้าน สบ.ม เป็นต้นทุนน้ำในการเพาะปลูกข้าวฤดูนาปรัง เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูก ได้ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม จากผลสำเร็จดังกล่าว กรมชลประทานจึงได้วางแผนที่จะขยายผลและปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืช ในพื้นที่ลุ่มต่ำในโครงการบางระกำโมเดล เพิ่มขึ้นอีก 117,000 ไร่ ซึ่งสามารถรองรับน้ำหลากได้ 150 ล้าน ลบ.ม. โดยเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตโครงการ ส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน 85,000 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล 20,000 ไร่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวรอีก 12,000 ไร่ ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการขยายผลได้ตามแผนที่วางไว้ จะทำให้พื้นที่โครงการบางระกำโมเดล มีพื้นที่หน่วงน้ำเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 382,000 ไร่ สามารถรองรับน้ำหลากได้ 550 ล้าน ลบ.ม.