กรมชลประทานเดินหน้าก่อสร้างระบบส่งน้ำฝั่งซ้าย-ขวา อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา มั่นใจแล้วเสร็จปี 2563 เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 111,300 ไร่ เผยขณะนี้ตัวเขื่อนเสร็จสมบูรณ์ ช่วยชาวปราจีนบุรีพ้นวิกฤตน้ำเค็มหนุน นายสุทธิศักดิ์ เชี่ยวพาณิช ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 9 รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 7 กรมชลประทาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง) ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ว่าปัจจุบันการก่อสร้างตัวอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาแล้วเสร็จและได้เริ่มเก็บน้ำมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2559 สามารถเก็บน้ำครั้งแรกได้ 242 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จากปริมาณความจุในระดับกักเก็บ 295 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบส่งน้ำฝั่งซ้ายและฝั่งขวาพร้อมอาคารประกอบ สำหรับระบบชลประทานฝั่งขวา เป็นการก่อสร้างคลองดาดคอนกรีตสายใหญ่ความยาว 14 กิโลเมตร พร้อมคลองซอย 9 สาย ความยาวรวม 19 กิโลเมตร สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ 16,500 ไร่ ในเขต อ.นาดี ส่วนระบบชลประทานฝั่งซ้ายจะมีลักษณะเดียวกัน คือ คลองดาดคอนกรีตสายใหญ่ยาว 46 กิโลเมตร พร้อมคลองซอย 37 สาย ส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 94,800 ไร่ ในเขต อ.นาดี และอ.กบินทร์บุรี ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างระบบส่งน้ำดำเนินการไปแล้วร้อยละ 30 คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดในปี 2563 สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก 111,300 ไร่ อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 2562 จะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนได้ ซึ่งเป็นการส่งน้ำตามแรงโน้มถ่วงโลก จึงไม่มีค่าใช้จ่าย นายสุทธิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า แม้จะอยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบส่งน้ำ แต่ ในช่วงฤดูฝนปี พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา สามารถเก็บกักน้ำได้ 230 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุเก็บกัก ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมชุมชนตลาดเก่า อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และยังทำให้มีน้ำต้นทุนสำหรับช่วยรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็ม ในแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง ในฤดูแล้งของปี พ.ศ.2561 ที่จะมาถึงได้อีกด้วย รวมทั้งยังทำให้เกิดอาชีพประมง ที่หมู่บ้านแก่งดินสอ เนื่องจากมีการแพร่พันธุ์ปลาในอ่างฯ นฤบดินทรจินดา จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นปลาชะโด ปลาเนื้ออ่อน ปลาสวาย สามารถจับปลาได้ถึงวันละ 1.5 ตัน จนเกิดมีการจัดตั้งสหกรณ์แพ ปลาขึ้น สร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน นอกจากนี้ตัวเขื่อนยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดปราจีนบุรี ให้ประชาชนมาพักผ่อน ปล่อยปลา ปลูกต้นไม้ และท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศน์อีกด้วย “อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ตัวเขื่อนกักเก็บน้ำ ได้ 295 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 319 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type Dam) ความสูง 32.75 เมตร ความยาว 3,967 เมตร มีทำนบปิดช่องเขาขาด 2 แห่ง ระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำ งบในการลงทุนโครงการประมาณ ๙,๐๗๘.๐๐ ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จนอกจากจะสามารถส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตร และการผลักดันน้ำเค็มแล้ว ยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีบางส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้น้ำและที่ดิน ลดอัตราการเสียหน้าดินเนื่องจากการพัดพาชะล้างของน้ำฝนที่ไหลบ่า รวมทั้งยังเป็นแหล่งน้ำดิบที่สำคัญในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก” นายสุทธิศักดิ์กล่าวปิดท้าย