กรมชลประทาน เร่งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดชัยภูมิ พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด คาดว่าหากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม สถานการณ์น้ำจะทรงตัว และคลี่คลายภายใน 10 วัน วันที่ 27 ก.ย.64 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ ทำให้มีน้ำหลากเข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตชัยภูมิ วัดปริมาณฝนสะสม 3 วัน ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาอำเภอเมืองชัยภูมิ ช่วงระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน 2564 ได้มากถึง 163.60 มิลลิเมตร (มม.) และปริมาณน้ำฝนสะสมในเดือนกันยายนวัดได้ 457.90 มม. ด้านสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปะทาว (ล่าง) (ภายใต้การดูแลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) ปัจจุบัน (27 ก.ย.64) มีปริมาณน้ำ 19.22 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 117 % ของความจุอ่างฯ มีน้ำล้นอาคารระบายน้ำล้นประมาณ 0.57 เมตร ส่วนที่สถานีหัวงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีบน ตั้งแต่วันที่ 24-26 ก.ย.64 วัดปริมาณฝนสะสม 3 วันได้มากกว่า 300 มม. ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำลำคันฉู มีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าเป็นจำนวนมาก ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยตั้งแต่วันที่ 25–27 ก.ย.64 มีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าอ่างฯรวมมากกว่า 50 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (27 ก.ย.64) มีน้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้น (Spillway) ประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ได้รับผลกระทบน้ำท่วมขัง 14 อำเภอ ได้แก่ หนองบัวระเหว จัตุรัส เมืองชัยภูมิ เนินสง่า บ้านเขว้า เกษตรสมบูรณ์ ภูเขียว บำเหน็จณรงค์ คอนสาร ภักดีชุมพล หนองบัวแดง บ้านแท่น เทพสถิต และคอนสวรรค์ กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานชัยภูมิ ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนผ่านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 15 และ 22 กันยายน 2564  เพื่อให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ที่อยู่บริเวณสองฝั่งลำน้ำให้รับทราบสถานการณ์และเตรียมการรับมือแล้ว ด้านนายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยโครงการชลประทานชัยภูมิ ได้เข้าไปติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 3 เครื่อง บริเวณถนนเลี่ยงเมืองด้านทิศใต้ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 8 เครื่อง บริเวณสะพานข้ามลำห้วยลำปะทาว ถนนเลี่ยงเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิเพื่อเร่งผลักดันน้ำให้ระบายออกสู่แม่น้ำชีให้เร็วที่สุด คาดการณ์ว่าหากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม ระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัว และเริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 10 วัน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด 24 ชั่วโมง จนกว่าจะหมดฝน