นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษามานานและรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560-2564 เพื่อส่งเสริมการผลิตและใช้ประโยชน์จากสมุนไพรไทยอย่างเต็มประสิทธิภาพ และได้สนับสนุนให้เกิดสมุนไพรที่เป็น Product Champion เช่น ไพล บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ รวมทั้งพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนให้มีการใช้สมุนไพรที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัย และนโยบายกัญชาทางการแพทย์โดยสนับสนุนให้ใช้สารสกัดและน้ำมันกัญชาหยอดใต้ลิ้น เพื่อรักษาหรือบรรเทาโรคบางอย่าง เช่น ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร บรรเทาอาการปวดเรื้อรัง ซึ่งเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านบริหารจัดการเป็นเลิศในเรื่องความมั่นคงด้านยาและเวชภัณฑ์ และการคุ้มครองผู้บริโภค แม้กระทั่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ยังมีการใช้สมุนไพร อาทิ ขิง หอมแดง มะนาว กระชาย และฟ้าทะลายโจร ในการดูแลสุขภาพและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน และอุปสรรค สำหรับธุรกิจสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย มีประเด็นสำคัญที่ทำให้ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ คือ ความไม่แน่นอนของคุณภาพวัตถุดิบหรือมาตรฐานของวัตถุดิบ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เล็งเห็นปัญหาในเรื่องคุณภาพสมุนไพร จึงได้สนับสนุนให้มีการจัดทำมาตรฐานสมุนไพรให้เป็นสากล ทั้งวัตถุดิบ สารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพรบรรจุในตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia, THP) อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ทั้งนี้ตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทยใช้เป็นตำรายาอ้างอิงตามกฎหมาย สำหรับผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมคุณภาพยาสมุนไพรไทยให้ได้มาตรฐานสากล สำหรับปี พ.ศ.2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย ฉบับปี พ.ศ.2564 (Thai Herbal Pharmacopoeia 2021) หรือ THP 2021 ขึ้น ซึ่งฉบับนี้มีความพิเศษตรงที่ได้บรรจุมอโนกราฟใหม่ของข้อกำหนดและมาตรฐานวัตถุดิบกัญชาที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองของไทยทั้งข้อกำหนดการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ การหาปริมาณสารสำคัญและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตำรา THP 2021 นี้ ประกอบด้วย มาตรฐานยาสมุนไพรทั้งหมด 109 มอโนกราฟ ได้แก่ วัตถุดิบ สารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งมีมาตรฐานใหม่ 8 มอโนกราฟ ได้แก่ รากช้าพลู ไคร้เครือ กระวาน กัญชา ดอกจันทน์ ลูกจันทน์ ยาชงฟ้าทะลาย และยาชงมะขามป้อม รวมทั้งการนำมอโนกราฟสารสกัดกัญชาและยาน้ำมันกัญชาหยอดใต้ลิ้นจากตำรายาของประเทศไทย ฉบับเพิ่มเติม ปี 2020 (Thai Pharmacopoeia II Volume I Part 1 Supplement 2020) มาไว้ในฉบับเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการใช้และอ้างอิง รวมถึงมีการปรับปรุงภาคผนวกที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย อาทิ ภาคผนวกการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพในผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร (Microbial Contamination)