ประชาชาวอินทรีเหล็ก พากันตบเท้าเข้าคูหากันอย่างคึกคักไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับ การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศเยอรมนี หรือถ้าว่าตามภาษาเยอรมัน ก็เรียกว่า การเลือกตั้ง “สมาชิกสภาบุนเดสทาค” ซึ่งก็คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. นั่นเอง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ก.ย.นี้ โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวเยอรมนีที่มีสิทธิเลือกตั้ง ได้กาบัตรเลือก ส.ส. จำนวนทั้งสิ้น 598 ที่นั่ง หากพรรคใดได้ 300 ที่นั่ง ก็จะได้ครองเสียงข้างมากในสภาบุนเดสทาค หรือรัฐสภาเยอรมนี ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะเป็นอย่างไร ก็ต้องรอกันสักพักหนึ่ง แต่ถ้าเมื่อกล่าวถึงผลการสำรวจความคิดเห็น หรือโพลล์ของประชาชนชาวเยอรมนีแล้ว ก็มีแนวโน้มว่า พรรครัฐบาลอย่าง “พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนและพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน” หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า “เซเดอู/เซเอสอู (CDU/CSU) ซึ่งบริหารปกครองเยอรมนีมายาวนานถึง 16 ปี ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กนาม “อังเกลา แมร์เคิล” อาจถึงกาลต้องเปลี่ยนมือ หรือจะเรียกว่า “อินทรีเหล็กผลัดขน” ก็เป็นไปได้สูง เนื่องจากคะแนนนิยมถดถอย จนตามหลังพรรคการเมืองคู่แข่งสำคัญที่ขับเคี่ยวกันแบบดุเดือดอย่าง “พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี” หรือ “เอสเพเด (SPD)” โดยว่ากันตามตัวเลขที่สำรวจกันก่อนหน้าเลือกตั้งไม่กี่วัน ปรากฏว่า “พรรคเซเดอู/เซเอสอู” ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การนำของ “นายอาร์มิน ลาสเชต” ซึ่งกล่าวกันว่า เป็น “ทายาททางการเมืองของนางแมร์เคิล” มีคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งอยู่ที่ร้อยละ 22 ตามหลัง “พรรคเอสเพเด” ของ “นายโอลาฟ โชลซ์” ที่มีคะแนนนิยมมาแรงแซงโค้งพุ่งขึ้นมาที่ร้อยละ 25.5 ใช่แต่เท่านั้น ในการประเมินของบรรดากูรูทางการเมืองเยอรมนีระดับฮาร์ดคอร์ ในแดนอินทรีเหล็กเอง ก็ฟันธงตรงกันเป็นเสียงเดียวว่า “พรรคเอสเพเด” ภายใต้การนำของนายโชลซ์ จะได้รับคะแนนเสียง ได้ที่นั่ง ส.ส. จากการเลือกตั้งครั้งนี้ที่อัตราเฉลี่ยร้อยละ 27.8 มากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ได้ร้อยละ 20.5 และยังเหนือกว่า “พรรคเซเดอู/เซเอสอู” ที่จะได้เพียงร้อยละ 24 เท่านั้น ซึ่งลดลงจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ได้ร้อยละ 32.9 ส่วนสถานการณ์ของพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เข้าร่วมชิงชัยในสมรภูมิเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีครั้งนี้ ได้แก่ “พรรคกรีน” ของ “นางอันนาเลนา เบอร์บ็อค” ที่กำลังมาแรงแซงโค้ง จากการรณรงค์ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในเทรนด์ของโลกเรา ณ ชั่วโมนี้ ปรากฏว่า มีคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งที่ร้อยละ 15.8 และได้รับความคาดหมายว่าจะได้ที่นั่ง ส.ส. จำนวนร้อยละ 17.2 “พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี” หรือ “อาเอฟเด” ภายใต้การนำของผู้นำคู่อย่าง “ยอร์ก มิวเธน” และ “ทิโน ชรูพัลลา” ซึ่งมีแนวนโยบายแบบชาตินิยมขวาจัด มีคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งที่ร้อยละ 11.1 และคาดว่าจะได้รับที่นั่ง ส.ส. ราวร้อยละ 12 “พรรคเสรีประชาธิปไตย” หรือ “เอฟเดเพ” ของ “นายคริสเตียน ลินด์เนอร์” ซึ่งมีแนวนโยบายแบบเสรีนิยม ขวากลาง มีคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งที่ร้อยละ 11.1 และคาดว่าจะได้รับที่นั่ง ส.ส. จำนวนร้อยละ 12 สูสีใกล้เคียงกับพรคอาเอฟเดที่สุด “พรรคลิงเค” ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายแบบซ้าย หรือสังคมนิยม ภายใต้การนำของ “ยานิน วิสสเลอร์” และ “ซูซาน เฮนนิก-เวลล์โซว์” ก็มีคะแนนนิยมรั้งที่ร้อยละ 6.3 และคาดกันว่าน่าจะได้ที่นั่ง ส.ส. ในจำนวนร้อยละที่ใกล้เคียงกับคะแนนนิยมของทางพรรค หากเป็นไปตามคะแนนนิยมและการประเมินของบรรดากูรูทางการเมืองเยอรมนี ก็หมายความว่า ผู้นำการจัดตั้งรัฐบาลเยอรมนีหนนี้ อาจถึงคราวเปลี่ยนมือจาก “พรรคเซเดอู/เซเอสอู” ที่มีแนวโนบายอนุรักษ์นิยมขวากลาง ไปสู่ “พรรคเอสเพเด” ซึ่งมีแนวนโยบายแบบซ้ายกลาง พร้อมกันนั้น รัฐบาลที่จะได้ ก็จะเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคด้วยกัน เพราะไม่มีพรรคการเมืองใด ได้รับเสียงข้างมากอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งเหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะ ให้แนวทางการจัดตั้งรัฐบาลผสมไว้หลายสูตรด้วยกัน โดยส่วนใหญ่ ต่างก็ยังยกให้ “พรรคเซเดอู/เซเอสอู” ยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเยอรมนีจะได้ผู้นำใหม่เป็นใครหลังสมัยนายกฯหญิงเหล็ก “อังเกลา แมร์เคิล” ก็มีสิ่งท้าทาย รอเป็นโจทย์ใหญ่ในหลายๆเรื่องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาสหรัฐฯ การจัดการกับการขยายอิทธิพลทั้งจากรัสเซียและจีน ว่าจะเป็นไปอย่างไร ท่ามกลางความเป็นห่วงว่า ผู้นำใหม่แห่งอินทรีเหล็กไม่ว่าจะเป็นใคร ล้วนหน้าใหม่ในวงการการเมืองระหว่างประเทศแทบทั้งสิ้น เพราะอยู่ใต้ร่มธงของนางแมร์เคิลมานานนับสิบปี