งานวิจัย “เกษตรแม่นยำ” สกว.พบทางเลือก ทางรอด จากโรครากเน่าของต้นส้ม เตรียมพัฒนาต่อยอด การเพิ่มผลผลิต การควบคุมคุณภาพ และลดต้นทุน ให้กับเกษตรกร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายเกษตร ร่วมกับสำนักประสานงาน เครือข่ายวิจัยเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture Research Network Coordination Office) โดยศาสตราจารย์ ดร.อรรถชัย จินตเวช จัดการประชุมเครือข่ายวิจัยพัฒนาและนำใช้เกษตรแม่นยำ สกว. หรือ TRF-PA research, development and implementation ( TRF-PA ) ครั้งที่ 2 เพื่อนำเสนอและเชื่อมโยงองค์ความรู้จากงานวิจัยในมิติต่างๆของระบบเกษตรกรแม่นยำและลดการใช้สารเคมี ในการสร้างต้นแบบการนำใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสำหรับสวนส้มร่วมกับเจ้าของสวนที่เป็นเกษตรกรรายย่อย (Figure 1) ณ ห้องประชุม นคร ณ ลำปาง ศูนย์วิจัยระบบทรัพยากร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการประชุมดังกล่าวมีการนำเสนอผลการวิจัยด้านการจัดการโรคต้นโทรมของส้มเขียวหวานอย่างแม่นยำและยั่งยืนจังหวัดเขียงใหม่ โดย ศ.ดร.ชัยวัฒน์ โตอนันต์และคณะ จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การพัฒนาสถานีตรวจวัดอากาศแบบไร้สายและระบบสารสนเทศเพื่อการเกษตรแม่นยำ โดย ผศ.ดร.เกริก ปั้นเหน่งเพ็ชร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การพยากรณ์ภูมิอากาศรายฤดูเพื่อใช้สำหรับแบบจำลองการคาดการณ์ผลผลิต โดย อ.ดร.ชาคริต โชตอมรศักดิ์ คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ การพัฒนาเซ็นเซอร์ทางเคมี เพื่อการวิเคราะห์ธาตุอาหาหารพืชในดินสำหรับการเกษตรแบบแม่นยำ โดย ศ.ดร.เกตุ กรุดพันธ์ และคณะ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้ง 4 โครงการเป็นการบูรณาการงานวิจัย เพื่อพัฒนาต้นแบบปฏิบัติเกษตรแม่นยำ ทั้งฐานข้อมูลทรัพยากรเกษตรเพื่อเสริมการตัดสินใจ มีการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบเทคโนโลยีสารสนเทศเกษตร (Agro-Info-Technology: AIT) มีเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสะดวกต่อเกษตรกร มีการจัดเก็บข้อมูลของตัวแปรด้านกายภาพ ด้านชีวภาพและด้านสังคมเศรษฐกิจ เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ความเข้าใจและอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างผลผลิตที่ได้รับกับความแปรปรวนเชิงพื้นที่และเชิงเวลาของตัวแปรต่าง ๆ ซึ่งต้องการความเชี่ยวชาญหลายด้านและเวลาในการประมวลผลและนำใช้ เพื่อสนับสนุนการเตรียมการเข้าสู่เกษตรแม่นยำอย่างมีประสิทธิภาพและผล อย่างไรก็ตามสำหรับเกษตรกร เรื่องระบบเกษตรแม่นยำ ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรรายย่อย จึงต้องวิเคราะห์ ถึงสถานการณ์ และปัญหา เพื่อหาจุดความสนใจร่วมกันระหว่างนักวิจัยกับเกษตรกร และทำให้เกษตรกรเข้าใจและยอมรับ ยกตัวอย่าง การแก้ไขปัญหาโรคต้นโทรมของส้มเขียวหวาน ซึ่งทาง ศ.ดร.ชัยวัฒน์ โตอนันต์ ได้เข้าไปพูดคุย แลกเปลี่ยนกับเกษตรกร และเกษตรกรที่ปลูกส้ม จังหวัดเชียงใหม่ ยอมเข้าร่วมการทดลอง 3 สวน อยู่ในพื้นที่ ต.ปางเสี้ยว อำเภอไชยปราการ สวนส้มใน อำเภอแม่อาย และสวนส้ม ต.ปู่หมื่น อำเภอฝาง ซึ่งกระบวนการวิจัยจะพัฒนาเกษตรกรให้เข้าใจศาสตร์การวิจัยเพื่อการแก้ไขปัญหาไปด้วย ดังนั้นนอกจากการจัดการต้นโทรมของส้มแล้ว ยังมีการสร้างสถานีตรวจวัดอากาศแบบไร้สาย การพัฒนาเซ็นเซอร์ทางเคมี เพื่อการวิเคราะห์ธาตุอาหาหารพืชในดิน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะทำให้รู้ว่าแต่ละช่วงอากาศเป็นอย่างไร การเปลี่ยนแปลงของพืชเป็นอย่างไร น้ำ อากาศแบบนี้ จะมีระบบอะไรเข้ามาจัดการ อย่างไรก็ดีความรู้ ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้นักวิจัยจะเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลแก่เกษตร ให้ได้มากที่สุด ส่วนจะตัดสินใจประการใดนั้น ขึ้นอยู่กับเกษตรกร เพราะต้องคำนึงถึงรายได้ และความพร้อมของเกษตรกร ก่อนที่จะนำเอาเทคโนโลยีที่โครงการวิจัยได้ดำเนินการศึกษามาปรับใช้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ โตอนันต์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลับเชียงใหม่ กล่าวถึงโครงการ “การจัดการโรคต้นโทรมของส้มเขียวหวานอย่างแม่นยำและยั่งยืน” ว่า ต้นส้มแสดงอาการของโรคต้นโทรม คือ มีลักษณะใบเหลือง รากฝอยเน่า ถอดปลอก เมื่อนำมาวิเคราะห์สาเหตุของ โรคต้นโทรมของส้ม พบว่ามาจากเชื้อราสาเหตุของโรครากเน่า โคนเน่า และเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคกรีนนิ่ง “การดำเนินการในช่วงปีแรกนี้ พบว่า การใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้รากส้มมีการฟื้นตัว แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการแตกยอด และสีสันของใบส้ม ที่ยังมีความแตกต่างกับต้นส้มที่ใช้สารเคมี ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการใส่อินทรียวัตถุน้อยเกินไป หลังจากนี้ จะต้องหาวิธีการเพิ่มขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีชีวภาพควบคู่กับการใช้สารเคมี และระหว่างการดำเนินการวิจัย ได้แนะนำให้เกษตรกรทดลองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเคมี เช่น การเพิ่มอากาศให้กับรากส้ม เพราะปัญหารากเน่าส่วนหนึ่งเกิดจากอากาศไม่สามารถผ่านลงไปใต้ผิวดิน โดยสังเกตผิดดินในสวนส้มทั้ง 3 สวน รวมถึงการเติมวัตถุอินทรีย์เข้าไปในดิน เพื่อเพิ่มความชื้น และระบายอากาศในดิน ที่สำคัญ คือ การลดใช้สารเคมี เพื่อสร้างโอกาสทางด้านการตลาด ยกระดับราคาของส้ม และความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมถึงตัวเกษตรกรเองด้วย” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว ขณะที่ นายณัฐพล วิสิทธวงศ์ ทายาทสวนส้มสิทธวงศ์ กล่าวถึงเหตุผลในการเข้าร่วมโครงการวิจัยนี้ว่า ที่ผ่านมาสวนส้มสิทธวงศ์ ประสบกับปัญหาของโรครากเน่า เช่นเดียวกับสวนอื่นๆ ซึ่งทางสวนได้พยายามหาวิธีการลดใช้สารเคมี โดยเชื่อว่าเป็นโอกาสทางการตลาด ตามกระแสอาหารเพื่อสุขภาพ จนเมื่อปีที่ผ่านมาได้รับการชักชวนจากอาจารย์ชัยวัฒน์ ให้เข้าร่วมโครงการวิจัย เพื่อหาแนวทางในการแก้ไข ควบคุมปัญหาในเรื่องโรคส้ม อย่างไรก็ดีนอกจากการลดการใช้สารเคมีแล้ว ตนอยากให้โครงการวิจัยพัฒนาต่อยอดงานวิจัยในประเด็นต่างๆเพิ่มอีก เช่น จุลินทรีย์กำจัดศัตรูพืช การสร้างต้นพันธุ์ที่แข็งแรง และการตลาด ทั้งภายในและต่างประเทศ เพราะการใช้สารเคมี เป็นการเพิ่มต้นทุน ซึ่งส่งผลทางลบทั้งระยะสั้นและระยะยาว