ในที่สุดประกันโควิด-19เจอจบจบก็เดินทางมาถึงจุดไคลแม็กซ์​ บริษัทหนึ่งในนั้นที่รับประกันก็มีอันถูกเชือดหลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจนเกิดมีผู้ร้องเรียนลุกฮือบุกทวงถามค่าสินไหมถึงสำนักงานใหญ่ของบริษัทเป็นจำนวนมาก และเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม​ ล่าสุดก็ได้ข้อยุติ​เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ซึ่งได้ประชุมยาวจนถึงพลบค่ำ จนได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ จากปรากฏพฤติการณ์และหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) มีฐานะการเงินไม่มั่นคง โดยมีประมาณการหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีสภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสิินไหมทดแทน​ ซึ่งกระบวนการหลังคปภ.ส่งคนเข้าไปควบคุมกิจการ​ ก็ได้ขีดเส้นตายให้บริษัทรีบเร่งแก้ไขฐานะกองทุนให้เป็นไปตามกม.และหลุดบ่วงกรรมมาตรา52ของพรบ.ประกันฯ อย่างไรก็ตา​ม​ วิบากกรรมบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยโควิดทั้งระบบอยู่เวลานี้ใครจะอยู่ใครจะไปนั้นคงไม่มีใครรู้ เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมจากการระบาดของผู้ติดเชื้อขึ้นมาอีกระลอกวันไหน​ โดยเฉพาะตัวเลขอัพเดทยอดเคลมจากผู้ติดเชื้อที่มายื่นเบิกกับแต่ละบริษัทในเดือน9หรือเดือนกันยายน2564​ มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน​ รวมไปถึงความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันโควิดอีก7-8เดือนข้างหน้าที่ลูกค้าซื้อและมีผลคุ้มครองอยู่จะมีชะตากรรมของยอดผู้ติดเขื้อระลอกใหม่ปริมาณสูงมากน้อยอย่างไร​ ไม่มีใครหยั่งรู้ได้ แต่อย่างไรก็ดี​ ล่าสุดก็มีหนึ่งเสียงของตัวแทนบรรดาบริษัทนายหน้าประกันภัยหรือโบรกเกอร์ผู้รับประกันภัยโควิดได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงและกังวลใจ​ และเสนอแนะทางออกให้ทางการหยิบยื่นความช่วยเหลือภาคธุรกิจประกันภัยทั้งระบบไม่ให้เกิดภาวะสั่นคลอนจากภาวะวิกฤติจ่ายเคลมสินไหมประกันโควิดกันแล้ว ผู้บริหารโบรกเกอร์ประกันภัยรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ตนเองในฐานะบริษัทโบรกเกอร์ที่ขายผลิตภัณฑ์ประกันโควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นอันดับสามของบรรดาบริษัทนายหน้าฯหรือโบรกเกอร์ประกันภัย อยากจะส่งเสียงในฐานะคนกลางประกันภัย หรือมุมของคนขาย ถึงความเสียหายของธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย โดยก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า เชื้อไวรัสโควิด คือ เชื้อโรคที่ระบาดระดับโลก และเป็นภัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ดังนั้นการจะใช้สถิติประกันภัยเข้ามาวิเคราะห์ หรืออ้างอิงนั้นคงไม่ได้ และไม่มีประเทศใดในโลกขายแบบประกันตัวนี้ แต่โชคดีที่ประเทศไทยมีแบบประกันโควิดตัวนี้ออกมาขาย เพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีหลักประกันความคุ้มครองโรคดังกล่าวกัน ซึ่งปีที่แล้วต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเราควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี ทำให้ธุรกิจมีกำไรและสามารถเดินหน้าขายกันต่อในปีนี้ได้ แต่สำหรับปีนี้ สถานการณ์รุนแรงขึ้น และโชคไม่ดีที่ประเทศไทยเราควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดได้ไม่ดีพอ ด้วยเหตุนี้ความเสียหายจึงเกิดขึ้นอย่างมหาศาล “ปีที่แล้วต้องยอมรับว่า ยอดสูงสุดเคยขายประกันโควิดได้ตกวันหนึ่ง 1 หมื่นฉบับในช่วงเดือนมี.ค.ปีที่แล้วที่มีอยู่ช่วงหนึ่ง คนซื้อเยอะมากจากข่าวการระบาดจากสนามมวย แต่พอมาปีนี้การซื้อประกันโควิดกลับมีมากมายมหาศาลกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะจากข่าวคนในวงการบันเทิงทยอยเป็นโควิดช่วงเดือนเมษายน ทำให้ยอดขายสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยโบรกเกอร์ผมมียอดขายวันหนึ่งสูงสุดขายได้ 4.5 หมื่นฉบับทีเดียว นับเป็นยอดขายสูงสุดจากที่ทำธุรกิจมา” ผู้บริหารฯ ยังกล่าวอีกว่า ตนเองมองว่า จากผลพวงของที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ช่วยประชาชนมาตั้งแต่เดือนเมษายน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขยายความคุ้มครอง ไปยังhospitel หรือรพ.สนาม ตลอดจน Home Isolation รวมถึงการออกมาตรการมากำกับบริษัทประกันให้มีการจ่ายสินไหมภายใน 15 วัน ซึ่งตามหลักการแล้วถือเป็นเรื่องที่ดีในการช่วยเหลือประชาชน และทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของประกัน แต่สืบเนื่องจากปัจจุบันการช่วยเหลือดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อยอดค่าใช้จ่ายสินไหมหรือเคลมของบริษัทประกันที่ต้องจ่ายนั้นกลับสูงขึ้นถึงประมาณ 800% จากเบี้ยฯรับทีเดียว ทั้งนี้เป็นผลมาจาก 1. รพ.เรียกเก็บเงินค่ารักษาจากทางบริษัทประกัน แทนที่จะเบิกจากภาครัฐ 2. การนอน hospitel 14 วัน สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินความคาดหมาย 3. เงินชดเชยรายได้จากการนอน Hospitelหรือ รพ.สนาม โดยไม่มีการรักษา หรือดูแลเป็นพิเศษ 4. การกำหนดระยะเวลาในการจ่ายเงินสินไหม 15 วัน ทำให้บริษัทประกันไม่สามารถตรวจสอบเอกสารได้ทัน 5. กรณีของเอกสารปลอมจากการเคลมนั้นมีปริมาณที่สูงมาก แต่บริษัทประกันยังไม่มีเวลาไปจัดการ เพราะต้องเร่งทำการจ่ายเคลมให้ทันตามที่คปภ.กำหนด มิฉะนั้นแล้วอาจจะโดนโทษประวิงการจ่ายสินไหมเกิดขึ้นได้ 6. เดิมทีแต่ละบริษัทมีพนักงาน 10-20 คนทำเรื่องเคลมสินไหม แต่ปัจจุบันสืบเนื่องจากปริมาณงานเคลมสูงขึ้นกว่าหลายร้อยเท่าต่อวัน จึงทำให้กำลังคนไม่เพียงพอ บางบริษัทต้องเพิ่มคนถึงหลายร้อยคนเพื่อมาช่วยทำเคลมให้เสร็จ ซึ่งการเร่งทำให้เสร็จนั้น ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดข้อผิดพลาดในการจ่ายสินไหมขึ้นได้ ผู้บริหารฯ กล่าวว่า จากประกาศภาครัฐที่จะคลายล็อคดาวน์นั้น ประกอบกับขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เข้ารับการรักษาลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตนเองจึงอยากจะขอนำเสนอแนวทางให้คปภ.พิจารณา เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยอยู่รอดและสามารถดูแลสินไหมตามความคุ้มครองทุกฉบับ ดังนี้ ได้แก่ 1.พิจารณาเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ให้อยู่ในรูปแบบปกติดังเดิม ไม่ขยายความคุ้มครองไปถึง Hospitel หรือรพ.สนาม และ Home Isolation ทั้งนี้เพื่อให้บริษัทประกันสามารถตรวจสอบเคลมได้ และลดค่าสินไหมที่เกินจากการประมาณการ 2.เสนอให้มีการจัดทำข้อมูลการเคลมเชื่อมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประโยชน์ในการเช็คสถานะผู้ป่วยโควิด และเพิ่มความรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำขึ้นในการทำเคลม 3.พิจารณาขยายระยะเวลาในการจ่ายสินไหม ในกรณีที่มีข้อสงสัย หรือไม่พบข้อมูลการติดเชื้อจากหน่วยงานรัฐ ควรจะมีระยะเวลาในการจ่ายเคลมไม่เกิน90วัน เหมือนเช่นเดียวกับกรณีบริษัทประกันชีวิตดำเนินการอยู่ในเวลานี้ 4.ขอความช่วยเหลือจากภาครัฐสนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือบริษัทประกันภัยที่ขาดทุนจากรับประกันโควิดในครั้งนี้ 5.ลงโทษผู้ที่ฉ้อโกงในการเคลมประกันโควิดครั้งนี้ให้ถึงที่สุด “ที่ผ่านมาตัวแทนนายหน้าและบริษัทประกันทุกคนตั้งใจ ทุ่มเทในการให้บริการช่วยเหลือลูกค้าโดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านเวลา หลายบริษัทสูญเสียพนักงานไปเพราะเป็นงานที่หนักและกดดันมากๆ ลูกค้าล้วนมีข้อสงสัยต่างๆมากมาย แม้เบี้ยประกันโควิดที่ขาย เบี้ยเพียงหลักร้อย โดยเริ่มต้นที่ 99 บาท จนถึง 500 บาทเท่านั้น แต่ทุกคนก็ยินดีให้บริการเต็มที่ เพื่อให้สมกับการทำหน้าที่คนกลางประกันภัยและอาชีพคนขายประกันภัยที่เรารัก ที่ออกมาส่งเสียงในฐานะคนกลางประกันภัยครั้งนี้ ก็เพียงเพราะอยากให้มีทางออกที่ดีอยู่รอดสำหรับทุกฝ่าย ให้ลูกค้าได้รับความคุ้มครองตามสัญญา บริษัทประกันภัยดำเนินธุรกิจได้ไม่ต้องปิดกิจการ นายหน้าช่วยทำหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ให้ลูกค้า และ คปภ.ช่วยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”ผู้บริหารโบรกเกอร์ กล่าวทิ้งท้าย