องค์การอนามัยโลก ปรับลดแบบเข้มข้น 40-50% ให้ค่าเฉลี่ย 24 ชม.จาก 25 เหลือ 15 มคก./ลบ.ม. และรายปีจาก 10 มคก.เหลือ 5 มคก. ขณะไทยกรมควบคุมมลพิษเสนอให้ปรับลด 1 ปี เป็น 15 มคก.จากเดิม 25 มคก. และ รอบ 24 ชม. จากเดิม 50 มคก. เหลือ 37 มคก.ยังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ต่างประเทศคำนึงถึงปัญหามลพิษทางอากาศที่กระทบต่อสุขภาพประชากรที่ภาครัฐไม่ควรจะเพิกเฉย เพจ Greenpeace Thailand โพสต์ระบุ องค์การอนามัยโลก (WHO) ปรับค่าแนะนําคุณภาพอากาศใหม่ ค่าเฉลี่ย PM 2.5 เข้มงวดกว่าเดิม 40-50% โดยค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ปรับจาก 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็น 5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 ปรับจาก 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็น 15 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติออกประกาศในปี 2553 กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5)ในบรรยากาศทั่วไป โดยที่ค่าเฉลี่ย 1 ปี ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และในเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษเสนอให้ปรับเป็นค่าเฉลี่ย 1 ปี เป็น 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 37 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น การที่ WHO ปรับค่าแนะนำคุณภาพอากาศขึ้นใหม่ ทำให้มาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป ของประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน กลายเป็นค่าเป้าหมายระหว่างทาง (Interim Target) ที่ล้าหลังเพื่อกำหนดนโยบายในการจัดการคุณภาพอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงไม่อาจบรรลุเป้าหมายตามค่าแนะนำคุณภาพอากาศใหม่ของ WHO ซึ่งคือสิทธิในอากาศสะอาด ได้เลย โดยทั่วไปคุณภาพอากาศเฉลี่ย 1 ปี ของประเทศไทยเกินค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ข้อมูลจากงานวิจัยระบุว่า ในปี 2555 (ปีล่าสุดที่มีข้อมูล) การเสียชีวิตของคนไทยอายุ 14 ปีขึ้นไป ร้อยละ 17 มาจากการสัมผัสมลพิษ PM2.5 ในระยะยาวที่สัมพันธ์กับแหล่งกำเนิดเชื้อเพลิงฟอสซิล ในปี 2562 มลพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี (เฉลี่ยด้วยจำนวนประชากร) ในประเทศไทยคือ 26.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอยู่ที่ 20.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 5 เท่าของค่าแนะนำคุณภาพอากาศใหม่ของ WHO ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นร่วมกันว่า “ไม่มีระดับของมลพิษทางอากาศขั้นต่ำใดๆ ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์” มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพรวมไปถึงโรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ และมะเร็งปอด การเข้าถึงอากาศสะอาดคือสิทธิของเราทุกคน มลพิษทางอากาศคือปัญหาเชิงโครงสร้างและรัฐไม่ควรเพิกเฉยต่อสิ่งที่กระทบต่อสุขภาพประชาชน ร่วมกัน #ขออากาศดีคืนมา เรียกร้องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดมาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศทั่วไป (Ambient Air Standard) ที่เข้มงวดมากขึ้น >> https://www.greenpeace.org/thailand/act/righttocleanair/ . อ่าน ข้อมูลสรุป : ประเทศไทยและค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก ฉบับเต็มได้ที่ >> https://www.greenpeace.org/.../climate-airpollution..."