นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากนโยบายของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการพัฒนาพื้นที่การทำเกษตรทั้งด้านดิน น้ำ พืช เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้พ้นจากความยากจนและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยยึดพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ และผลกระทบกับเกษตรกรมากที่สุดคงจะเป็นเรื่องดินเสื่อมโทรมขาดอินทรียวัตถุ ขาดความอุดมสมบูรณ์ จึงได้สั่งการให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ร่วมกับหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านเร่งดำเนินการตามภารกิจ เรื่องการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยให้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้เกษตรกร ส่งเสริมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ทั้งทางด้านวิชาการและการปฏิบัติ เพื่อเป็นปัจจัยช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต แนะนำให้มีการนำหลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์ประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาประดิษฐ์ในท้องถิ่นไปใช้ในการพัฒนาทรัพยากรดินของประเทศ และได้วางกรอบนโยบายการดำเนินงานตามแผนที่ Agri-Map ภายใต้นโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านต่างๆ ประกอบด้วย งานด้านอนุรักษ์ดินและน้ำ งานปรับปรุงบำรุงดิน เนื่องจากปัญหาดินในพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศไทย มีความหลากหลายมากทั้งดินเปรี้ยว ดินกรด ดินเค็ม และดินเสื่อมโทรม หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างถูกต้องอาจเสื่อมโทรมจนไม่สามารถปลูกพืชได้ และอาจจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารได้ ซึ่งในแต่ละปัญหาดินนั้นกรมฯได้มีการศึกษาจนได้แนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม มีการขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงาน ปี 2561 กรมพัฒนาที่ดิน จะมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพดินในชนิดดินที่มีปัญหาหลัก 3 ชนิด ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภาค ได้แก่ ดินเค็ม ดินเปรี้ยว และดินกรด โดยมีผลการดำเนินงานในการส่งเสริมปรับปรุงคุณภาพดินจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 9,333,000ไร่ และในปีงบประมาณ 2560 มีเป้าหมายปรับปรุงคุณภาพดิน จำนวน 175,000 ไร่ ส่งเสริมเกษตรกรใช้วัสดุปูนเพื่อการเกษตรปรับปรุงบำรุงดินร่วมกับการใช้พืชปุ๋ยสดบำรุงดินให้ดินมีสภาพที่เหมาะสมต่อการปลูกพืช มีปริมาณน้ำและแร่ธาตุอาหารเพียงพอ ทำให้เนื้อดินมีอินทรียวัตถุมากและไม่มีสารที่เป็นพิษต่อพืช มีค่า pH ประมาณ 5.5-7.0 จึงจะช่วยเพิ่มผลผลิตพืชให้สูงขึ้น พร้อมแนะนำเกษตรกรให้น้อมนำแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักใช้ในการดำเนินชีวิต การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือเกษตรผสมผสาน เพื่อให้สามามารถทำนาปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น นายสุรเดช กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เกษตรกรต้องทำการปรับปรุงดินทั้งด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ มีการใส่เพิ่มอินทรียวัตถุต่างๆ โดยใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นนวัตกรรมของกรมพัฒนาที่ดิน เช่น สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก พด.2 ทำน้ำหมักชีวภาพ หรือปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อไถกลบลงดินเพิ่ม ความอุดมสมบูรณ์ในดินให้สูงขึ้น แนวทางหรือการปรับปรุงบำรุงดินมีวิธีการต่างๆ ที่หลากหลาย เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้เอง เช่น การใช้วัสดุปูนในการปรับค่าความเป็น กรด - ด่าง เช่น นาข้าวใช้ปูนมาร์ล ไม้ผล ใช้ปูนโดโลไมท์หรือปูนขาว หรือวิธีการไถกลบตอซังฟางข้าวร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพ พด.2 อัตราการใช้ 5 ลิตร/ไร่ ฉีดพ่นหมักทิ้งไว้ช่วยให้ฟางย่อยสลายตัวได้เร็วขึ้น ทำให้เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน หากใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก อัตรา 2-4 ตัน/ไร่ คลุกเคล้าอยู่ในดิน หรือใช้วิธีการเพิ่มฮอร์โมนในต้นพืชที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรียน้ำฉีดพ่นให้ต้นพืชหรือรดลงดิน ช่วยให้รากพืชแข็งแรงพืชเจริญเติบโตได้ดีให้ผลผลิตที่สูงขึ้น รวมทั้งการดูแลรักษาควบคุมความชื้นในดินก็ให้ใช้วัสดุต่างๆ คลุมดิน เช่น ฟางข้าว ใบหญ้าแฝก แกลบสด พลาสติก หรือปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน ช่วยลดการสูญเสียธาตุอาหารพืช และช่วยรักษาความชื้นในดิน “อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรมีการจัดการดินภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยต้องไม่ทำการเผาตอซังพืชทุกชนิดและให้ปลูกพืชตระกูลถั่วต่างๆ เช่น ปอเทือง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ฯลฯ หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วให้ใช้กลบหรือสับกลบตอซังลงในดินเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ช่วยปรับปรุงบำรุงดินให้สมบูรณ์เหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืชในฤดูกาลถัดไป ซึ่งวิธีการต่างๆ เป็นวิธีการที่จะช่วยปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่เสื่อมสภาพ และสามารถปลูกพืชให้ผลผลิตสูงได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ต้องตรวจวิเคราะห์ ตรวจสอบดินทุกๆ 1-2 ปี เพื่อทำให้ทราบการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดิน และนำผลวิเคราะห์ไปพิจารณาหาแนวทาง หรือวิธีการปรับปรุงบำรุงดินที่เหมาะสมต่อๆ ไป ทั้งนี้เกษตรกร ประชาชนทั่วไป สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลความรู้ต่างๆ ได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1-12 สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน และ ศพก. 882ศูนย์ ใกล้บ้าน”นายสุรเดช กล่าวทิ้งท้าย