กล่าวขวัญว่าเป็นสนธิสัญญาที่สร้างผลกระทบข้างเคียง หรือไซด์เอฟเฟกต์ (Side effect) จนสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นแห่งยุคเลยทีเดียว สำหรับ “ออคัส (AUKUS)” สนธิสัญญาข้อตกลงที่จัดทำขึ้นโดยผู้นำจาก 3 ประเทศ ได้แก่ นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา แล้วก็เอาพยัญชนะตัวหน้าบ้าง ตัวย่อของชื่อประเทศบ้างๆ ในภาษาอังกฤษ ผสมกันเป็นชื่อนามของสนธิสัญญา คือ “ออคัส” เขียนตามภาษาอังกฤษว่า “AUKUS” อันหมายถึง Australia ออสเตรเลีย UK (United Kingdom) สหราชอาณาจักร และ US สหรัฐฯ ซึ่งเป็น 3 ชาติผู้ทำสนธิสัญญา เรียกกันตามชื่อก็คือ “สนธิสัญญาพันธมิตรไตรภาคีด้านความมั่นคง” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในอีก 18 เดือน หรืออีก 1 ปีครึ่งข้างหน้า เนื้อหาใจความของสนธิสัญญา ก็ว่าด้วยเรื่องการร่วมมือทางด้านความมั่นคงของทั้ง 3 ประเทศ ในการรักษาเสถียรภาพ ส่งเสริมสันติภาพ ในระยะยาว ให้บังเกิดขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อันหมายถึง พื้นที่สองน่านน้ำมหาสมุทร คือ มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อรวมกันเข้าก็คือ ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นั่นเอง ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอันล้ำสมัยเป็นประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เทคโนโลยีควอนตัม ระบบใต้น้ำ การโจมตีระยะไกล และความมั่นคงทางไซเบอร์ เป็นอาทิ อย่างไรก็ดี ที่นับว่าเป็นน่าจับตามองภายใต้กรอบความร่วมมือของสนธิสัญญาข้างต้น ก็เห็นจะเป็นเนื้อหาของข้อตกลงที่ระบุว่า สหรัฐฯ พร้อมด้วยสหราชอาณาจักร จะช่วยออสเตรเลีย จัดสร้าง “เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์” หนึ่งในอาวุธที่ถูกยกให้เป็นสุดยอดอาวุธทางการทหารยุคปัจจุบัน ซึ่งการจัดสร้างก็มิใช่แต่ช่วยผลิต ช่วยสร้าง แบบเมื่อเสร็จแล้ว ก็แล้วกันไป แต่ยังจะช่วยถ่ายทอด ความรู้ ในเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ พลังงานที่สามารถนำไปเป็นอาวุธมหาประลัยนี้ แก่ออสเตรเลีย และนั่นก็หมายความว่า อสเตรเลีย จะได้ครอบครองเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์นี้ด้วย พลันที่ ผู้นำ 3 ชาติ บรรลุข้อตกลงผ่านระบบออนไลน์ เพราะยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงต้องดำเนินการแบบนิวนอร์มัล (New normal) ก็ปรากฏได้สร้างผลกระทบข้างเคียงขึ้นมาทันที อย่างชนิดทันควันกันเลยทีเดียว เริ่มจาก “จีนแผ่นดินใหญ่” ประเทศเจ้าของฉายา “พญามังกร” และมีแนวโน้มว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจหมายเลข 1 ของโลกในอนาคตอันไม่ไกลนี้ ก็ได้ออกมาสำแดงเดชตวัดกรงเล็บของพญามังกร ต่อต้านสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นประเทศแรก ทั้งนี้ เพราะอ่านเกมออก และอ่านขาด เช่นเดียวกับบรรดานักวิเคราะห์ที่แสดงทรรศนะไปในทิศทางเดียวกับที่จีนมองว่า ผลพวง เป้าหมาย จากข้อตกลงของสนธิสัญญาฉบับนี้ แท้จริงแล้ว ก็พุ่งมายังจีนแผ่นดินใหญ่เป็นประการสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านการถ่วงดุล การคานอำนาจ และท้าทาย ต่อพญามังกรจีน ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลเหนือภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เป็นประการสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิทธิพลทางการทหารในพื้นที่น่านน้ำทะเลจีนใต้ ที่กำลังแข่งขันระหว่างสองขั้วค่ายกันอย่างดุเดือด ส่งผลให้ทางการปักกิ่ง รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาฟาดงวด ฟาดงา เข้าใส่ทั้ง 3 ชาติ จากการที่ร่วมกันทำข้อตกลงฉบับนี้ โดยนายจ้าว หลี่เจียง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ออกมาประณามต่อข้อตกลงดังกล่าวว่า ทั้ง 3 ชาติกระทำการอย่างไร้ความผิดชอบอย่างยิ่ง และจิตใจคับแคบ เป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับ โฆษกสถานเอกอัคราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ออกมาประสานเสียงต่อต้านด้วยเช่นกันว่า ทั้ง 3 ประเทศ คือ สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ควรสลัดแนวคิดในยุคสงครามเย็นได้ รวมถึงการมีอคติออกไปได้แล้ว ขณะที่ นิวซีแลนด์ ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ในฐานะชาติในทวีปเดียวกัน คือ ทวีปออสเตรเลีย เช่นกัน ก็ได้แสดงออกถึงความไม่พอใจต่อข้อตกลงฉบับนี้ โดยนางจาซินดา อาร์เดิน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ได้ออกมาประกาศว่า จะไม่ยินยอมให้เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของชาติใดเข้ามาเพ่นพ่านในน่านน้ำของนิวซีแลนด์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางการนิวซีแลนด์ ได้เคยห้ามเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของออสเตรเลีย ไม่ให้เข้ามาน่านน้ำของนิวซีแลนด์ไปแล้วก่อนหน้า ไม่เว้นแม้กระทั่ง “เกาหลีเหนือ” หรือ “โสมแดง” ภายใต้การนำของประธานสูงสุดคิม จอง-อึน ออกมตำหนิประณามว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่อันตรายและไม่น่าพึงปรารถนา ตลอดจนส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านนิวเคลียร์ในภูมิภาคแห่งนี้ อย่างไรก็ดี ที่นับว่าเป็นปฏิกริยาเชิงลบที่สร้างความฮือฮายิ่งกว่าชาติใดในเวลานี้ ก็เห็นจะเป็นปฏิกริยาจาก “ฝรั่งเศส” เจ้าของฉายา “แดนน้ำหอม” ที่แสดงออกแรงยิ่งกว่าใคร เพราะเหตุที่ว่า ข้อตกลงของสนธิสัญญาฉบับนี้ มีเรื่องที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร จะช่วยออสเตรเลีย สร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้ โดยออสเตรเลีย ต้องการที่จะมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อีกอย่างน้อย 8 ลำ ส่งผลให้ออสเตรเลีย ต้องฉีกสัญญาข้อตกลงจัดซื้อเรือดำน้ำจากฝรั่งเศสกันไปโดยปริยาย ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำจากฝรั่งเศสของออสเตรเลีย ก็ต้องบอกว่า เป็นเม็ดเงินมหาศาล คือ 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการทำสัญญาเมื่อ 2 ปีก่อน เมื่อยกเลิกทิ้งกันไปกลางครันเยี่ยงนี้ ก็ถึงทำเอาฝรั่งเศส ออกมาบอกว่า ไม่ผิดอะไรกับถูกเพื่อนรักอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย แทงข้างหลังกันเลยทีเดียว โดยนายฌ็อง อีฟ เลอ ดรียอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส ออกมาประณามว่า เป็นพฤติกรรมตีสองหน้า ดูหมิ่น และโกหกมดเท็จ ก่อนที่จะเรียกตัวเอกอัคราชทูตฝรั่งเศสที่ประจำทั้งที่สหรัฐฯ และออสเตรเลีย กลับประเทศ ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกของฝรั่งเศสที่เรียกตัวทูตจากประเทศพันธมิตรอันเก่าแก่ของตนเช่นนี้ พร้อมกันนั้นก็ยังล้มโต๊ะเจรจาด้านความมั่นคงกับอังกฤษ ที่มีขึ้นในสัปดาห์นี้อีกด้วย รอยปริแตกอันเป็นไซด์เอฟเฟ็กต์ ผลกระทบข้างเคียง จากสนธิสัญญาฉบับนี้ คาดว่าต้องใช้ระยะเวลากันสักพักหนึ่ง กว่าที่ความสัมพันธ์จะกลับมาฟื้นคืนดีดังเดิม