วันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้มีผู้ป่วยกำลังรักษาตัว จำนวน 129,071 ราย อยู่ในรพ. 41,088 ราย รพ.สนามและอื่น ๆ 87,983 ราย ในจำนวนนี้อาการหนักจากปอดอักเสบ 3,444 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 753 คน โดยมีผู้ขอรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 300,033 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 511,087 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 795 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 22 กันยายน 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 46,023,016 โดส ในส่วนของ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด มีเพียงกรุงเทพมหานครเท่านั้น ที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 1,000 ราย โดย กทม.มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 2,455 ราย สมุทรปราการ 910 ราย ชลบุรี 715 ราย ราชบุรี 455 ราย สงขลา 453 ราย ระยอง 423 ราย นราธิวาส 357 ราย ปราจีนบุรี 271 ราย นครราชสีมา 263 ราย และปัตตานี 257 ราย ทั้งนี้ นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า การติดเชื้อในพื้นที่ที่เป็นสีแดง ยังเจอการติดเชื้อที่เป็นกลุ่มก้อนเล็ก ๆ เช่น ในล้งผลไม้ จ.จันทบุรี จ.ราชบุรี และในโรงงาน จ.ตราด จ.สงขลา โรงเรียนนายร้อย รวมถึงพนักงานร้านอาหารใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว อาจจะเป็นพื้นที่มีการเปิดรับการท่องเที่ยว แต่ยังต้องเคร่งครัดในมาตรการการควบคุมโรคต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว อีกทั้ง นพ.เฉวตสรร ยังกล่าวถึง การจัดงานบุญประเพณีต่าง ๆ เพราะที่ผ่านมา ตรวจพบคลัสเตอร์ที่ไปร่วมงานศพ ซึ่งก็เข้าใจว่าชาวไทยให้ความสำคัญในเรื่องของเครือญาติ มีความเกรงอกเกรงใจ ความใกล้ชิดกัน แต่ก็จะต้องเข้มงวดในมาตรการป้องกันการติดต่อของโรคด้วย และนอกจากงานศพแล้ว อาจจะมีงานบุญ งานกฐิน งานเกษียณ งานมุทิตาจิตต่าง ๆ ก็ต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน รวมถึงเทศกาลกินเจ ที่ใกล้จะมาถึง ต้องมีการกำหนดแนวทางต่าง ๆ ในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานมหาดไทยและท้องถิ่น อย่างไรก็ตามจากการเปิดพื้นที่นำร่องแซนด์บอกซ์ ใน 5 จังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นั้น คงต้องมีการพิจารณารายละเอียดและแนวทางต่อไป โดยจะต้องมีความพร้อมในส่วนของประชาชน นักท่องเที่ยว ระบบข้อมูลในการติดตาม รวมถึงกลไกในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาคส่วนการสาธารณสุข และท้องถิ่น ที่พร้อมจะรับมือ และดำเนินการ