NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ เพอร์เซเวียแรนส์ ผู้เก็บบันทึกเสี้ยวประวัติศาสตร์แห่งดาวอังคาร เตรียมเดินทางสู่เป้าหมายถัดไป วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เพอร์เซเวียแรนส์ได้เก็บหินตัวอย่างบนดาวอังคารสำเร็จเป็นครั้งแรก ขณะนี้กำลังมุ่งหน้าไปยังสถานที่ต่อไป ห่างจากตำแหน่งปัจจุบัน 200 เมตร เป็นแนวสันเขาที่ปกคลุมไปด้วยเนินทราย ก้อนหิน และเศษหินเล็ก ๆ บริเวณนี้เรียกว่า “South Séítah” การขุดเจาะหินตัวอย่างหินก่อนหน้านี้นั้นอาจจะเป็นชั้นหินที่อายุน้อยที่สุดที่สามารถพบได้บนพื้นของหลุมอุกกาบาตเจเซีโร ดังนั้นทางทีมนักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าบริเวณ South Séítah นั้นน่าจะเป็นชั้นหินที่มีอายุที่เก่าแก่กว่า และจะช่วยให้ทีมวิทยาศาสตร์สามารถความเข้าใจถึงลำดับเหตุการณ์ของสถานที่แห่งนี้อีกด้วย หลังจากที่รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ประสบความสำเร็จในการเก็บหินตัวอย่างครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์ได้รับข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับพื้นที่นี้ ตัวอย่างหินแรกมีชื่อว่า “Montdenier” และหินตัวอย่างที่สองชื่อว่า “Montagnac” จากหินเป้าหมายก้อนเดียวกัน เก็บเมื่อวันที่ 6 และ 8 กันยายนที่ผ่านมาตามลำดับ จากการวิเคราะห์หินตัวอย่างที่เก็บได้ครั้งล่าสุด และครั้งก่อน (ถึงแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์) อาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์รวบรวมข้อมูลลำดับเหตุการณ์ในอดีตเกี่ยวกับการพุ่งชนของอุกกาบาตและช่วงเวลาที่ยังมีน้ำอยู่ภายในหลุมของพื้นที่แห่งนี้ได้ หินตัวอย่างแรกของภารกิจนี้มีลักษณะเป็นหินบะซอลต์ (basalt) ที่เกิดจากการเย็นตัวของลาวา แร่ธาตุจากหินประเภทนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งในการวิเคราะห์ทางธรณีวิทยาโดยเทคนิคที่เรียกว่า “Radiometric Dating” ซึ่งสามารถช่วยระบุเวลาที่หินก่อกำเนิดได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังช่วยลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ได้ถูกต้อง ทำให้ทราบลำดับการเปลี่ยนแปลงภายในหลุมอุกกาบาต เช่น การเกิดขึ้นและหายไปของทะเลสาบ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีตของดาวอังคาร แม้ว่าหินตัวอย่างที่รถสำรวจเก็บได้นี้จะขนาดใกล้เคียงกับแท่งชอล์ก แต่ก็เพียงพอที่จะให้คุณค่าทางวิทยาศาสตร์และสร้างความเข้าใจใหม่ ๆ เกี่ยวกับดาวอังคารได้อีกมากมายอย่างแน่นอน สำหรับภาพถ่ายที่เห็นนี้ บันทึกเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2564 แสดงให้เห็นรูที่เกิดจากเครื่องมือขุดเจาะของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์บนหินเป้าหมาย "Rochette" รูทางด้านซ้ายคือบริเวณที่เก็บหินตัวอย่าง "Montgnac" และรูทางด้านขวาคือบริเวณที่เก็บหินตัวอย่าง "Montdenier" หากสังเกตดี ๆ จะเห็นรอยกลมๆ อยู่ด้านล่างของรูที่ถูกเจาะ เกิดจากการขัดพื้นผิวหินของรถสำรวจ รอยกลมเล็ก ๆ นี้ก็มีชื่อเรียกเช่นกันว่า “Bellegarde” อีกทั้งทางด้านขวาสุดของหินจะมีร่องรอยที่เกิดจากการตัดคว้านอีกด้วย นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีเกลืออยู่ภายในหินเหล่านี้ คาดว่าอาจเกิดจากน้ำใต้ดินไหลผ่านแล้วทำให้แร่ธาตุดั้งเดิมในหินเปลี่ยนแปลงไป หรืออาจเกิดจากน้ำที่ระเหยไปจนหมด แล้วเหลือเกลือทิ้งไว้ หินตัวอย่างเหล่านี้อาจดักจับฟองอากาศเล็กๆ ของน้ำบนดาวอังคารในสมัยดึกดำบรรพ์ไว้ หากเป็นเช่นนั้น หินตัวอย่างก็จะสามารถทำหน้าที่เสมือนเป็นแคปซูลเวลาที่ให้เบาะแสเกี่ยวกับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมในสมัยดึกดำบรรพ์บนดาวอังคารได้ ทีมควบคุมรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์เชื่อว่าครั้งหนึ่งภายในหลุมอุกกาบาตนั้นเต็มไปด้วยน้ำ ซึ่งอาจเกิดจากกระบวนการบางอย่างในอดีตที่ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเหือดแห้งไปภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี แต่อย่างไรก็ดี จากผลการวิเคราะห์ตัวอย่างหินล่าสุดแสดงให้เห็นว่าอาจมีน้ำอยู่ใต้ดินเป็นเวลานาน น้ำใต้ดินเหล่านี้อาจบ่งชี้ว่าบริเวณดังกล่าวเคยเป็นทะเลสาบมาก่อน หรืออาจเป็นน้ำใต้ดินที่ยังหลงเหลือเมื่อน้ำบนพื้นผิวเหือดแห้งไปจนหมดแล้ว ซึ่งอาจมีน้ำขังอยู่เป็นระยะเวลานานเพียงพอให้เกิดสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กขึ้นได้ รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์กำลังค้นหาหินตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของดาวอังคาร ตัวอย่างจะถูกผนึกไว้อย่างดีในท่อไทเทเนียมภายในตัวรถสำรวจ จนกว่ารถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์จะปล่อยแคปซูลเก็บตัวอย่างเหล่านี้ทิ้งไว้เพื่อรอภารกิจสำรวจดาวอังคารในอนาคต ตามเก็บและส่งกลับมายังโลก เรียบเรียง : ธราดล ชูแก้ว - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : [1] https://www.nasa.gov/.../nasa-s-perseverance-rover... [2] https://mars.nasa.gov/.../rochette-after-perseverance.../"